TFRS9 - รับคำนวณและสร้างแบบจำลองรวมถึงรับคำนวณผลขาดทุนทางด้านเครดิต โดย ABS (อาจารย์ทอมมี่)

10 เมษายน 2563

TFRS9 - รับคำนวณและสร้างแบบจำลองรวมถึงรับคำนวณผลขาดทุนทางด้านเครดิต 
โดย ABS (อาจารย์ทอมมี่)

“บริษัท ABS รับสร้างแบบจำลอง รวมถึงรับคำนวณการด้อยค่าของลูกหนี้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน (TFRS9) โดยมาตรฐาน TFRS9 ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มค. 2563 และกำหนดให้กิจการรับรู้ผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) โดยการพิจารณาเหตุการณ์ในอดีต สถานการณ์ปัจจุบัน และการพยากรณ์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต”
 
รับออกแบบและสร้างแบบจำลอง (Model Creator) รวมถึงสอบทานแบบจำลอง (Model Validator) - กลุ่มที่มีผลกระทบมาก ซึ่งต้องใช้วิธีการทั่วไป (General Approach) หรือ วิธีการด้อยค่าของสินเชื่อเริ่มต้นหรือซื้อมา (Purchased or Originated Credit-Impaired Approach) เท่านั้น ได้แก่

1. สถาบันการเงิน ที่ปล่อยกู้หรือปล่อยสินเชื่อ
2. สถาบันการเงิน ที่ซื้อหนี้สินมาบริหารจัดการต่อ
 


รับคำนวณและเซ็นรับรอง - กลุ่มที่สามารถใช้วิธีการอย่างง่าย (Simplified Approach) ได้

1. บัญชีลูกหนี้การค้า (Accounts Receivable)
2. สินทรัพย์ทางการเงินที่บริษัทได้ลงทุนไป เช่น พันธบัตร หรือ หุ้นกู้ เป็นต้น




ABS อาจารย์ทอมมี่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการคำนวณสำรองหนี้สูญ (ECL) มีประสบการณ์มากมาย ดังนี้ 

รับบรรยายเรื่องแบบจำลองและสูตรการคำนวณของ TFRS9 ให้กับผู้สอบบัญชีและหน่วยงานต่างๆ
มีประสบการณ์ในการสร้างแบบจำลองให้กับสถาบันการเงินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
มีประสบการณ์สอบทานแบบจำลอง (Model Validator) ให้กับสถาบันการเงิน ที่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) หรือ สตง.
มีประสบการณ์ในการคำนวณให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
มีทีมงานมืออาชีพที่เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบบจำลองและสูตรทางสถิติต่างๆ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้นำมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9 / IFRS 9) เข้ามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งได้ส่งผลให้ธุรกิจในประเทศไทยต้องปรับตัวให้ทันต่อมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ในตอนนั้น และได้มีผลบังคับใช้ใน 1 มกราคม 2563 กันไปแล้ว โดยสาเหตุที่ต้องนำ TFRS 9 / IFRS 9 และคอนเซ็ปต์ของ ผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) มาใช้ก็เพื่อให้กิจการต่าง ๆ ได้มีการลงบัญชีที่มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น


วัตถุประสงค์ของ TFRS 9 / IFRS 9

TFRS 9 / IFRS 9 หรือ มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 นั้น จึงเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดทำรายงานทางการเงินสำหรับ “สินทรัพย์ทางการเงิน และ หนี้สินทางการเงิน” และสะท้อนผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ลงไป

1.    เพื่อเป็นการกำหนดวิธีการปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการรับรู้รายการและการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน หนี้สินทางการเงิน และสัญญาซื้อหรือขายรายการที่ไม่ใช่รายการทางการเงินบางประเภท

2.    เพื่อเป็นการกำหนดหลักการสำหรับการรายงานทางการเงินสำหรับสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงินเพื่อเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินในการประเมินถึงจำนวนเงิน จังหวะเวลา และความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดในอนาคตของกิจการ

มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (เครื่องมือทางการเงิน) หรือ TFRS 9 / IFRS 9 สามารถแบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลัก ๆ  ได้แก่

1)    การจัดประเภทรายการและวัดมูลค่า (Classification and Measurement) ซึ่งเป็นแกนหลักของ TFRS 9 / IFRS 9

2)    การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment Loss) ซึ่งเป็นการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้และเกี่ยวกับเรื่องผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL)

3)    การป้องกันความเสี่ยงทางบัญชี (Hedge Accounting) ซึ่งใช้หลักพื้นฐานวิศวกรรมการเงิน (Financial Engineering) มาประกอบ


การจัดประเภทรายการและวัดมูลค่า (Classification and Measurement) ตามหลักของ TFRS 9 / IFRS 9

การจัดประเภทรายการและวัดมูลค่า ใน TFRS 9 / IFRS 9 คือ การดูรูปแบบการดำเนินธุรกิจของกิจการในการจัดการสินทรัพย์ทางการเงิน และลักษณะของกระแสเงินสดตามสัญญาของสินทรัพย์ทางการเงิน  ไม่ว่าจะเป็นวิธีราคาทุนตัดจำหน่าย (Amortized Cost) วิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (FVOCI) หรือ วิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน (FVPL) เป็นต้น


การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment Loss) หรือ การด้อยค่าของลูกหนี้ ตามหลักของ TFRS 9 / IFRS 9

ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ TFRS 9 / IFRS 9 นั้น การประเมินผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ของลูกหนี้ปกติที่ค้างชำระ 0-30 วัน ในสมัยก่อนจะสำรองกันแค่ประมาณ 1% ของวงเงิน (หรือที่เรียกกันว่า Exposure At Default : EAD) แต่เกณฑ์ใหม่ของ TFRS 9 / IFRS 9 นี้ ได้ให้ตั้งสำรองผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ตามโอกาสความเสี่ยงในรอบ 12 เดือนข้างหน้า หรือนานกว่านั้น (ขึ้นกับว่าจะเป็น General Approach หรือ Simplified Approach) โดยอาจดูจากพฤติกรรมการชำระหนี้ในอดีตว่าเคยมีประวัติค้างชำระหรือไม่ และมองไปในอนาคตว่ามีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหรือไม่ ซึ่งหากมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ บริษัทก็อาจต้องตั้งสำรองกลุ่มนี้มากกว่า 1% 

สำหรับลูกหนี้ที่ค้างชำระ 30-90 วัน เมื่อก่อนบริษัทตั้งสำรองประมาณแค่ 2% แต่เกณฑ์ใหม่ของ TFRS 9 / IFRS 9 นั้นได้พิจารณาการประเมินผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) บนโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ตลอดอายุสัญญาการกู้ เช่น หากค้างชำระแล้ว 1 งวด และมีความเสี่ยงผิดนัดชำระงวดที่ 2 แบงก์อาจต้องตั้งสำรองเพิ่มเป็น 10% หรืออาจต้องตั้งสำรองเต็ม 100% ได้ 

ดังนั้น วิธีการรับรู้และวิธีวัดมูลค่าของการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงินตามมาตรฐาน TFRS 9 / IFRS 9 ที่แตกต่างจากมาตรฐานเดิม คือ การวัดมูลค่าของการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน ที่ถูกจัดประเภทและวัดมูลค่าด้วยวิธีราคาทุนตัดจำหน่าย และ วิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น ซึ่งเราเรียกการด้อยค่านี้ได้อีกอย่างว่า “ผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น” (Expected Credit Losses : ECL) ซึ่งจะต้องรวมถึงการพิจารณาปัจจัยในอนาคต (Forward-looking View) ที่อาจส่งผลต่อการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน 


อนึ่ง สำหรับเครื่องมือทางการเงินใน TFRS 9 / IFRS 9 ที่ถูกจัดประเภทและวัดมูลค่าด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน ไม่ต้องทำการตั้งด้อยค่า เนื่องจากมูลค่ายุติธรรมได้สะท้อนผลกระทบจากการด้อยค่าลงในงบกำไรขาดทุนของบริษัทแล้วนั่นเอง


การบัญชีป้องกันความเสี่ยง (Hedge Accounting) ตามหลักของ TFRS 9 / IFRS 9

การบัญชีป้องกันความเสี่ยง (Hedge Accounting) เป็นหนึ่งในมาตรฐานการบัญชีที่เจ้าของกิจการจำเป็นต้องทำเพื่อลดผลกระทบและกระจายความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับมูลค่าของสินทรัพย์ที่ครอบครอง

โดยหลักแล้ว TFRS 9 / IFRS 9 จะกล่าวถึงตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) ซึ่งหมายถึง เครื่องมือทางการเงินที่มีลักษณะ 3 ข้อ ดังนี้


1)    มูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน เปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรที่ระบุไว้ เช่น อัตราดอกเบี้ย ราคาของหลักทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น

2)    ไม่มีการจ่ายเงินลงทุนสุทธิเมื่อเริ่มแรก หรือ จ่ายน้อยมาก

3)    การรับหรือการจ่ายชำระ จะทำในอนาคต

และเงื่อนไขการบัญชีป้องกันความเสี่ยง (Hedge Accounting) ใน TFRS 9 / IFRS 9 มีทั้งหมด 5 ข้อดังนี้

1.    Qualifying Hedge Items (ระบุรายการที่ต้องการป้องกันความเสี่ยง)

2.    Qualifying Hedging Instruments (ระบุเครื่องมือที่ใช้ป้องกันความเสี่ยง)

3.    Formal Designation and Documentation (จัดทำเอกสารอย่างเป็นทางการ)

4.    Hedge Effectiveness (ตรวจสอบความมีประสิทธิผลของการป้องกันความเสี่ยง)

5.    Rebalancing (การปรับสมดุล เมื่อพบว่าการป้องกันความเสี่ยงไม่มีประสิทธิผล)


การคำนวณผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) แบบวิธี General Approach และ Simplified Approach

สำหรับบริษัทที่ต้องใช้วิธีการประเมินแบบ General Approach (ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงิน) ภายใต้ TFRS 9 / IFRS 9 จะตั้งสำรองจากพฤติกรรมการชำระหนี้ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับตามหลัก Expected Credit Loss (ECL) หรือ ผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

1)    หากลูกหนี้ไม่มีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ลูกหนี้ไม่เคยผิดนัดชำระเลย จะมีการตั้งเงินสำรองตามกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับภายใน 12 เดือน (12 month Expected Credit Losses)

2)    หากลูกหนี้มีความเสี่ยงการผิดนัดชำระสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องทำการตั้งสำรองโดยคำนวณใหม่ตามอายุของตราสารนั้น ๆ แทน (Lifetime Expected Credit Losses)

3)    หากลูกหนี้ปฏิบัติผิดสัญญา มีประวัติการค้างชำระหรือผิดนัดชำระ  กิจการจะตั้งสำรองเพิ่มตามสัดส่วน ความเสี่ยงที่สูงขึ้นและพิจารณากระแสเงินสดตามอายุของตราสารนั้น ๆ แทน (Lifetime Expected Credit Losses)

สำหรับบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มักจะมีรายการเครื่องมือทางการเงินเป็นเพียง ลูกหนี้การค้า หรือ ลูกหนี้ตามสัญญาเช่า เป็นต้น ซึ่งมาตรฐาน TFRS 9 / IFRS 9 กำหนดให้ใช้วิธีการประเมินแบบ Simplified Approach โดยจะตั้งสำรองบนโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ตลอดอายุสัญญา


แล้วผู้ประเมินจะคำนวณเรื่องผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) จากมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9 / IFRS 9) ได้อย่างไร

ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 หรือ TFRS 9 / IFRS 9 ได้มีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานฉบับเดิมเพื่อลดช่องโหว่ที่มีอยู่ กล่าวคือ มาตรฐานฉบับเดิมนั้นจะให้มีการลงบัญชี “ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ” ก็ต่อเมื่อเกิดการผิดนัดชำระไปแล้ว ซึ่งเป็นการลงบัญชีแบบไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สามารถนำไปตั้งเงินสำรองของกิจการได้ครอบคลุมความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นนั่นเอง 

แต่มาตรฐานฉบับใหม่ TFRS 9 / IFRS 9 นั้นมีการนำหลักการในการเก็บข้อมูลทางสถิติและแบบจำลองอนาคตมาประยุกต์ใช้ซึ่งก็คือ การคิดความน่าจะเป็นที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระ (Probability of Default) ในส่วนของการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment Loss) หรือที่เรียกว่า ผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ซึ่งเป็นการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้

แล้วผู้ประเมินจะทำงานอย่างไร เพื่อคำนวณเรื่องผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ให้ถูกต้อง

ผู้ประเมินจะต้องประมาณการความไม่แน่นอน หรือความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้นให้สอดคล้องกับ TFRS 9 / IFRS 9  โดยจะต้องวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดลคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้ประเมินอาจจะต้องใช้ ดุลยพินิจของผู้บริหาร (Management Overlay) มาประกอบการพยากรณ์ หรือทำนายในระยะยาวเพื่อที่จะประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในทางปฏิบัติให้มากที่สุด พร้อมทั้งประเมิน Sensitivity Test หรือทดสอบค่าความไวจากปัจจัยต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประเมิน TFRS 9 / IFRS 9 นั้นไม่ได้ประเมินผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) สำหรับสถาบันการเงินเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการประเมินให้กับบริษัททั่วไปที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ลูกหนี้การค้า เงินลงทุนในหุ้นกู้ หรือ เงินให้กู้ยืมระหว่างบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่บริษัททั่วไปใช้เครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ในการบริหารกิจการอยู่แล้ว

บทสรุปแนวคิดของการทำแบบจำลองผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ใน TFRS 9 / IFRS 9

การคิดความน่าจะเป็นที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระ (Probability of Default) ในส่วนของการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment Loss) หรือผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ใน TFRS 9 / IFRS 9 นั้นสามารถอธิบายได้จาก “การวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดลคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”

โดยผู้ประเมิน (Valuer) จะเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาจำลองและสร้างโมเดลคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในที่นี้ก็คือ ความน่าจะเป็นที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระ (Probability of Default หรือ PD) แล้วจึงนำสิ่งที่ได้นี้ไปประยุกต์ใช้กับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9 / IFRS 9) โดยเฉพาะในส่วนของการตั้งสำรองของกิจการเพื่อให้เป็นไปตามาตรฐานสากล หรือ ที่เรียกตามหลักสากลว่า ผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL : Expected Credit Loss) นั่นเอง


"หากต้องการคำปรึกษา สามารถโทรสอบถาม ศุภิชาเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร 087-100-7199

หรือ โทรหา อาจารย์ทอมมี่ ที่ 082-899-7979 ได้โดยตรงเช่นกัน"