การบันทึกบัญชี ผลประโยชน์พนักงาน

12 สิงหาคม 2562

เมื่อได้รับรายงานผลการประมาณการจากนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาแล้ว บางคนก็อาจจะงง ๆ ว่าแล้วต้องเอาอะไรในเล่มมาใช้บ้าง เพราะนักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็ให้รายละเอียดมาเยอะเหลือเกิน ดังนั้นเราจะมาหาตอบคำถามเหล่านี้กัน โดยก่อนจะอธิบายเรื่องอื่น ๆ ต่อไปนี้ ขอทบทวนความจำเรื่องตัวย่อของมูลค่าต่าง ๆ ดังนี้ 



สำหรับรายงานผลการประมาณการ ส่วนที่ทุกคนสนใจมากที่สุดย่อมต้องเป็นภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงาน ซึ่งส่วนนี้จะอยู่ตรงไหนในเล่มนั้นก็แล้วแต่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะออกแบบรายงาน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว การนำเสนอตัวเลขผลลัพธ์นี้มักจะอยู่ในรูปแบบของตาราง ดังนั้นหากไม่แน่ใจว่าควรมองหาอะไรในรายงาน ก็ให้มองหาตารางตัวเลขไว้ก่อน

ตัวอย่างตารางผลการประมาณการโครงการผลประโยชน์พนักงาน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562


จากตารางการคำนวณด้านบน จะเห็นว่าหัวตารางคือ จะเขียนว่า “1 ม.ค. 62 ถึง 31 ธ.ค. 62” แปลว่าตัวเลขในคอลัมน์นี้ คือตัวเลขผลการประมาณการของปีงบประมาณ 2562

ซึ่งจะเห็นว่าจากตารางภาระผูกพัน หรือ หนี้สิน (สินทรัพย์) ผลประโยชน์ที่กำหนดไว้สุทธิ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 (DBO19) จะเท่ากับ 9,537,532 บาท

ตัวเลขนี้มีความสำคัญอย่างไร?
อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า ภาระผูกพัน คือจำนวนเงินสำรองที่บริษัทจะต้องสำรองให้พนักงาน ดังนั้นตารางผลการประมาณการนี้กำลังบอกเราว่า ไม่ว่าที่ผ่านมาจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม จะเคย หรือไม่เคยตั้งเงินสำรอง และถ้าเคยตั้ง จะตั้งตามมาตรฐาน NPAEs หรือ TAS 19 ก็ตาม บริษัทจะต้องมีเงินสำรอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เท่ากับ 9,537,532 บาท

ซึ่งวิธีการบันทึก DBO19 นี้ คือ เครดิตภาระผูกพันจำนวน  9,537,532 บาท ในงบดุล (Balance Sheet) 
ส่วนที่ต้องบันทึกต่อมาคือ เดบิตต้นทุนบริการของปีงบประมาณ 2563 (SC20) และดอกเบี้ยสุทธิจากหนี้สินของปีงบประมาณ 2563 (IC20) ลงในงบกำไรขาดทุน (P&L) ซึ่งจุดนี้ สามารถเลือกบันทึกได้ทุก ๆ เดือน, ทุก ๆ ไตรมาส จะบันทึกครั้งเดียว ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 ก็ได้ 

หากต้องการบันทึกบัญชีครั้งเดียว ณ สิ้นปี สามารถบันทึกตามตารางด้านบนได้เลย แต่หากต้องการบันทึกเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส นักบัญชีสามารถแจ้งให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัย คำนวณผลการประมาณการรายเดือน และรายไตรมาสได้ หรือจะให้ง่ายกว่านั้น สามารถนำผลการประมาณการรายปีหารด้วย 12 เพื่อทำเป็นรายเดือน หรือหาร 4 เพื่อทำเป็นรายไตรมาสก็ได้เช่นกัน

แต่ถ้าบริษัทต้องการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) หรือมาตรฐานชุดเล็ก สามารถนำผลรวมของต้นทุนบริการ และดอกเบี้ยสุทธิ มาเดบิตเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนได้เลย (ที่นำมารวมกันเพราะ TFRS for NPAEs ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องแบ่งค่าใช้จ่ายเป็น ต้นทุนบริการ และดอกเบี้ยสุทธิ)

การบันทึกบัญชีการจ่ายผลประโยชน์โดยตรงของนายจ้าง หรือ Employer Direct Benefit Payment (BP) สิ่งที่ต้องทราบคือ ตัวเลขผลการประมาณการในส่วนของการจ่ายผลประโยชน์โดยตรงของนายจ้าง เป็นตัวเลขเฉลี่ย หรือเป็นค่าคาดหวังเท่านั้น ไม่ใช่ตัวเลขที่จะจ่ายจริง ๆ

ยกตัวอย่างเช่นจากตารางด้านบน ในปี 2563 ว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยคาดการณ์ไว้ว่า จะมีการจ่ายผลประโยชน์แก่พนักงานที่เกษียณอายุจำนวน (BP20) 810,080.00 บาท ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อถึงวันที่ต้องจ่ายผลประโยชน์ จะมีโอกาสสูงมากที่จะไม่ได้จ่ายเท่ากับ 810,080.00 บาท

สาเหตุเป็นเพราะพนักงานอาจจะได้รับการขึ้นเงินเดือนไม่เท่ากับที่ตั้งสมมติฐานไว้ ทำให้คาดการณ์เงินผลประโยชน์คลาดเคลื่อนไป รวมถึงอัตราการหมุนเวียนพนักงาน และอัตรามรณะ เช่นกำหนดไว้ว่าพนักงานจะมีโอกาสทำงานถึงเกษียณอายุ 95% แต่เมื่อถึงวันเกษียณอายุจริง ๆ หากพนักงานยังอยู่ แปลว่าโอกาสทำงานถึงเกษียณเท่ากับ 100% แล้ว ก็จะทำให้คาดการณ์เงินผลประโยชน์คลาดเคลื่อนไปได้เช่นกัน

ดังนั้นสำหรับการบันทึกบัญชีการจ่ายผลประโยชน์โดยตรงของนายจ้าง นักบัญชีควรจะบันทึกตามที่จ่ายจริง และเมื่อบันทึกการจ่ายผลประโยชน์โดยตรงของนายจ้างไม่ตรงกับรายงานผลการประมาณการ จะส่งผลให้ภาระผูกพันโครงการผลประโยชน์พนักงาน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 และปีต่อ ๆ ไปไม่ตรงตามรายงานไปด้วย  



นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย 
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน
และผู้แต่งหนังสือ 
  •  The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  •  The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)


บทความที่เกี่ยวข้อง



Like Share

บทความอื่น