17 กรกฎาคม 2562
เกษียณเท่ากับเลิกจ้าง ลูกจ้างเฮ นายจ้างเตรียมเงินชดเชยสำรองไว้...
ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า ถ้าเราโดนเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างให้เรา (เป็นค่าทำขวัญ) แต่ข่าวดีที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ ตอนนี้ กฎหมายแรงงานได้กำหนดเพิ่มเติมว่า “การเกษียณ” เท่ากับการเลิกจ้าง ซึ่งหมายความว่านายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างในตอนที่เกษียณ อีกทั้ง กฎหมายแรงงานยังได้กำหนดอายุเกษียณไว้เป็น 60 ปี (กันคนที่ไม่ยอมกำหนดอายุเกษียณ หรือกำหนดอายุเกษียณไกลเกินไป)
โดยอัตราค่าชดเชยตามอายุงาน คือ อายุงานมากกว่า 10 ปี ได้รับการชดเชย 10 เดือน หรือ 300 วัน หากทำงาน 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับการชดเชย 8 เดือน อายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับค่าชดเชย 6 เดือน ทำงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้ค่าชดเชย 3 เดือน และทำงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 1 เดือน
ข่าวดีซ้ำสองอีก คือ ตอนนี้ยังมีประเด็นในการปรับปรุง พรบ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่ง ครม. ก็เพิ่งอนุมัติไปว่า ถ้าทำงานเกิน 20 ปี จะได้เงินชดเชย 400 วัน (13.3 เดือน) ซึ่งเราก็คงต้องรอฟังข่าวดีนี้กัน
และนั่นเป็นที่มา ที่นายจ้างต้อง คำนวณผลประโยชน์พนักงาน ให้ตั้งเงินสำรองรับรู้เป็นภาระหนี้สินของบริษัท และทยอยรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละปีเอาไว้
ถ้ามองกันดีๆ แล้ว การคำนวณเงินสำรองสำหรับ ค่าชดเชยจากการเกษียณ เป็นการการันตีผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับตอนที่ทำงานจนถึงอายุเกษียณ ซึ่งหลักการตั้งเงินสำรองจะเหมือนกับหลักการเดียวกับแบบประกันชีวิต ที่การันตีผลประโยชน์ให้ในอนาคตที่ระบุไว้ ซึ่งหลักการที่ว่านี้จะอาศัยหลัก คณิตศาสตร์ประกันภัย ในการคำนวณ เพื่อตั้งสำรองให้เหมาะสมไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป
เพราะโอกาสที่พนักงานแต่ละคนจะได้รับเงินชดเชย ก็ไม่ใช่ 100% และเรายังสามารถนำเงินไปลงทุนก่อนได้ จึงทำให้เราไม่ต้องทยอยตั้งสำรองเต็มจำนวน ซึ่งเงินที่ต้องเตรียมไว้จ่ายค่าชดเชยของแต่ละคนในยามเกษียณนั้น แทนที่จะต้องตั้งสำรองจ่ายเต็มๆ เราก็คำนวณโดยหลัก คณิตศาสตร์ประกันภัย แล้วลดทอนด้วยหลักความน่าจะเป็น (ที่มีโอกาสไม่จ่าย) และ หลักการลงทุนดอกเบี้ยทบต้น (ที่มีโอกาสให้เงินทำงานงอกเงยดอกเบี้ย)
การคำนวณทางหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย แบบประกันชีวิตที่ประมาณไปในอนาคตระยะยาว จะทำให้นายจ้างไม่ต้องตั้งสำรองเต็ม และสามารถตั้งหนี้สินได้น้อยลงไปเยอะ
วิธีการนี้มีใช้กันอยู่แล้วครับ เช่น บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทมหาชน จะใช้ มาตรฐานการบัญชีไทยฉบับที่ 19 (TAS19) เรื่อง ผลประโยชน์พนักงาน ที่ใช้หลัก คณิตศาสตร์ประกันภัย ในการคำนวณดังกล่าว เพื่อตั้งสำรองแบบนี้ไว้อยู่แล้ว
Reference : Post Today Newspaper