12 กรกฎาคม 2561
“ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์เงินเดือน...เงินมันไม่ได้หล่นลงมาจากฟ้า ให้เรานั่งนับเล่นไปวันๆ”
มนุษย์เงินเดือนแต่ละคน ต้องทำงานกระเสือกกระสน ปากกัดตีนถีบ เพื่อให้มีเงินมาจุนเจือในชีวิตประจำวัน และนี่ยังไม่นับเงินที่ต้องจ่ายค่าเทอมลูก เรียนต่อ แต่งงาน หรือไม่สบายเป็นอะไรก็ต้องไปหาหมอ บางทีเป็นลมเข้าโรงพยาบาลแล้วตื่นขึ้นมาก็เป็นลมอีกทีตอนเจอใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล
ทั้ง ๆ ที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ก็ทุ่มเททำงานให้กับบริษัทอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีเงินเก็บไม่เพียงพอเสียที มันจึงเป็นอะไรที่ท้าทายมากสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่จะออมให้มีเงินเก็บมากพอที่จะเป็นทุนสำรองไว้ใช้ในยามเกษียณ ยิ่งอนาคตคนเราจะมีอายุยืนขึ้น ก็ยิ่งต้องมีเงินออมในยามเกษียณให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ถ้ามนุษย์เงินเดือนคนไหนที่เกษียณออกมาโดยไม่มีเงินเก็บสักก้อน ก็เหมือนกับมีชีวิตที่ยืนอยู่บนปากเหว แม้แต่เงินทำทุนก็ไม่มี หารายได้เสริมก็อาจไม่เพียงพอกับค่าครองชีพและค่ารักษาพยาบาลที่นับวันก็ยิ่งแพงขึ้น
กฎหมายแรงงาน (มาตรา 118) จึงระบุว่า ถ้ามนุษย์เงินเดือนคนไหนที่มีอายุงานในบริษัทเกินกว่า 10 ปี ก็จะได้เงินก้อนจากบริษัทถึง 10 เดือนในวันที่เกษียณ เรียกง่ายๆ ว่าได้เป็น “ค่าชดเชยการเลิกจ้างเมื่อมีอายุครบเกษียณ” ซึ่งถ้าอายุงานน้อยกว่า 10 ปีก็จะได้ค่าชดเชยที่ลดหลั่นกันลงไป
คำถามคือ “แต่ละบริษัทจะมีเงินจ่ายได้อย่างไรล่ะ ในเมื่ออนาคตจะมีมนุษย์เงินเดือนเกษียณออกมาอีกเป็นกอง?”
“เงินเกษียณของมนุษย์เงินเดือน” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ผลประโยชน์ของพนักงานหลังออกจากงาน” จึงถือเป็นต้นทุนที่แฝงไว้อยู่ในแต่ละบริษัท และต้องประเมินมูลค่าต้นทุนนี้ให้ดี เพราะถ้าประเมินสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้าได้ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์อย่างฟิตเนส California Wow หรือ เว็บดีลชื่อดังอย่าง Ensogo ที่มองข้ามต้นทุนแฝงบางอย่างไป ทำให้กว่าจะรู้ตัวก็ “เจ๊ง” ไปเสียแล้ว
กรณีผลประโยชน์ของพนักงานนี้ “ผู้บริหารอาจจะคิดว่าบริษัทของตัวเองกำลังทำกำไรอยู่ แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา” เพราะลืมว่ามีค่าใช้จ่ายยามเกษียณให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ในวันข้างหน้ารออยู่ ถ้าบริษัทไม่ยอมทยอยตั้งสำรองเอาไว้ในแต่ละปีให้ถูกต้อง ก็จะทำให้บริษัทขาดทุน หรือล้มละลายในอนาคตได้
อาจเพราะกฎหมายยังไม่บังคับให้มีการตั้งคำนวณต้นทุนที่ถูกต้องเอาไว้ ผู้บริโภคที่เป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ จึงตั้งอยู่บนความเสี่ยงว่า บริษัทจะสามารถจ่ายเงินยามเกษียณให้เราตามกฎหมายแรงงานได้หรือไม่ ซึ่งถึงเวลานั้นก็คงได้แต่หวังว่าบริษัทจะสามารถเอาเงินกำไรในปีนั้นๆ มาจ่ายให้กับมนุษย์เงินเดือนที่เกษียณได้เพียงพอ แต่อาจจะต้องแลกกับการตัดค่าใช้จ่ายอื่นหรือตัดโบนัสของพนักงานที่ยังอยู่ แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือการที่ไม่มีปัญญาจ่ายเงินให้คนที่จะเกษียณจนทำให้บริษัทต้องปิดตัวลง
จะดีกว่าไหม? ถ้าเราให้บริษัทประเมินค่าใช้จ่ายล่วงหน้าสำหรับมนุษย์เงินเดือนยามเกษียณ แล้วตั้งเป็นเงินสำรองมาใส่ลงไปในงบการเงิน เพื่อสะท้อนต้นทุนของการจ้างพนักงานให้ถูกต้อง ซึ่งงานที่มีความซับซ้อนและมีผลกระทบต่อบริษัทในระยะยาวแบบนี้ จะใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัย เช่น การคำนวณเชิงสถิติ การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นจำนวนมาก มาประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดกับบริษัทในอนาคต
ขนาดบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ที่ว่าแน่แล้ว อย่าง General Motors (GM) ในอเมริกา ยังคำนวณการตั้งสำรองได้ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่มีเงินจ่ายให้กับพนักงานเมื่อยามเกษียณ เรียกง่ายๆ ว่าบริษัทมีกำไรเท่าไร ก็ไม่เพียงพอกับการจ่ายเงินก้อนให้กับมนุษย์เงินเดือนที่เกษียณไปในแต่ละปี จนกระทั่งต้องยื่นล้มละลายในปี ค.ศ. 2009 และยังเป็นคดีฟ้องร้องกันจนถึงทุกวันนี้
บริษัทที่มีมาตรฐานและคำนึงถึงผลประโยชน์ของพนักงาน จึงเฟ้นหา นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ดีกรีคุณภาพ มาคำนวณตั้งเงินสำรองให้ถูกต้องเพื่อเพียงพอจ่ายเงินเกษียณของมนุษย์เงินเดือนให้เหมาะสม
มนุษย์เงินเดือนทำงานมาตลอดชีวิตเพื่อหวังสุขสบายในยามเกษียณ ถึงแม้ California Wow หรือ Ensogo จะหายเข้ากลีบเมฆไป ก็คงไม่เจ็บใจเท่า เงินยามเกษียณที่ควรจะได้ แต่กลับไม่ได้ เพราะไม่ได้ตั้งสำรองไว้ให้ถูกต้องตามหลักการคณิตศาสตร์ประกันภัย…