บทลงโทษ...ของคนออมเงิน

28 กันยายน 2561

“รู้ตัวหรือเปล่า...ว่าเงินออมตอนนี้กำลังจะโดนทำโทษอยู่?

   

          เมื่อมองไปรอบๆ ตัวเราในตอนนี้ ก็จะเห็นว่าดอกเบี้ยเงินฝากนั้นต่ำเตี้ยเหลือเกิน แถมรัฐบาลหลายๆ แห่งทั่วโลกก็เริ่มใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น หรือ สหภาพยุโรป ซึ่งเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไงก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือมันเริ่มจะเป็นนโยบายที่หลายๆ ประเทศเริ่มให้ความสนใจจะนำมาใช้... และมันก็มีผลกระทบกับชีวิตประจำวันของเราไปแบบไม่ทันตั้งตัวแล้วครับ


          ดอกเบี้ยติดลบ ก็แปลว่าการที่คนฝากเงินจะต้องมาจ่ายเงินให้กับคนมายืมเงิน ซึ่งมันก็เหมือนกับอยู่ดีๆ มีเพื่อนมายืมเงินเรา แล้วบอกว่า “เฮ้ย...เราอยากยืมเงิน 1,000 นึง ขอเอามาใช้ก่อนแล้วเดี๋ยวคืน แต่ตอนคืนนั้น ขอคืนแค่ 800 นะ” แล้วแทนที่เราจะโกรธ เราที่เป็นคนให้ยืมกลับรู้สึกดีใจที่มีคนมาขอยืมเงินเรา (แต่ในความเป็นจริง ถ้าใครเจอคนมาขอยืมเงินกันแบบนี้แล้ว...แคะขี้มูกมาป้ายกันยังจะโกรธน้อยกว่า 555)


          โชคยังดีที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในบ้านเรายังไม่ติดลบ แต่ช้าก่อน...ถึงแม้จะเห็นว่าการฝากเงินเอาดอกเบี้ยเป็นการเพิ่มมูลค่าของเงินในกระเป๋าเรา  ถึงกระนั้น เราก็ยังมีเพื่อนคู่ใจที่เรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อ” ที่คอยบั่นทอนมูลค่าของเงิน แอบติดสอยห้อยตามมาด้วย และถ้าอัตราเงินเฟ้อนั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก มันก็เหมือนกับการที่ดอกเบี้ยติดลบอยู่ดี


             โดยโอกาสจะเกิดเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอนาคตนั้นมีอยู่มาก เพราะเห็นกันอยู่ว่านโยบายพิมพ์แบงค์ออกมาเป็นว่าเล่น (หรือที่เรียกติดปากกันว่า QE - Quantitative Easing)  ได้แพร่หลายในหลายๆ ประเทศจนกลายเป็นแฟชั่นกันไปแล้ว ทำให้เม็ดเงินมหาศาลจากทั่วทุกมุมโลก...ได้ถูกผลักออกมาปลิวว่อนเข้าภาคการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งลองคิดดูว่าถ้าปริมาณเงินมีเยอะขึ้น แต่จำนวนสินค้ามีเท่าเดิม ก็หมายถึงเงินจะมีมูลค่าลดลง (เพราะใช้ปริมาณเงินที่เยอะขึ้น เพื่อมาซื้อสินค้าจำนวนเท่าเดิม) 


         การกดอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และให้ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อก็...เหมือนกับเป็นการลงโทษคนออมเงิน แต่ที่สำคัญคือ ในขณะเดียวกันก็เป็นการให้รางวัลคนที่เป็นหนี้  เนื่องจากเงินเฟ้อสามารถ “กัดกร่อน” มูลค่าหนี้ได้เร็วขึ้นพร้อมๆ กับเงินออมที่โดน “กัดกร่อน” เพราะให้เงินทำงานสู้เพื่อเอาชนะอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้เลย


                จึงไม่แปลกเลยที่เมื่อก่อนจะเห็นรัฐบาลของประเทศที่มีหนี้สินล้นมือนิยมใช้นโยบายแบบนี้กัน...เช่น เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว (ช่วง ค.ศ. 1945 – 1980) ที่หลายๆ ประเทศเจาะจงทำดอกเบี้ยให้ติดลบ พร้อมๆ กับการพยายามค่อยๆ ทำให้มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เพื่อทำให้มูลค่าหนี้ที่มีอยู่โดนกัดกร่อนไปทีละมากๆ...และยิ่งเศรษฐกิจโลกในทุกวันนี้ได้ถูกผูกกันไว้อย่างเหนียวแน่นมากอย่างกับอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก ปัญหาตอนนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าดอกเบี้ยจะผันผวนหรือติดลบแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าถ้าทุกอย่างยังคงเป็นอย่างนี้อยู่ต่อไปแล้ว เราจะปรับตัวการวางแผนการเงินทั้งในระยะสั้น (เอาไว้เที่ยว) และระยะยาว (เอาไว้เกษียณ) ได้อย่างไร


บทลงโทษของคนออมเงิน

         

               การลงทุนในสถานการณ์ที่งงๆ เช่นนี้ จึงต้องเข้าใจและวางแผนให้เหมาะสมที่จะลงทุนสู้กับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ ซึ่งก็ต้องมองหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่จะเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้ เช่น พันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนที่ผูกกับอัตราเงินเฟ้อ (ยิ่งเงินเฟ้อมาก ก็จะได้ผลตอบแทนมา) หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งอาจไม่จำเป็นจะต้องเป็น ทองคำ หรือ น้ำมัน เสมอไปก็ได้


          ในอีกมุมหนึ่ง ผมเห็นว่าการใช้นโยบายการลงโทษคนออมเงินหรือคนเป็นเจ้าหนี้นั้น ก็หมายความว่า  เราควรจะต้องเปลี่ยนจากเจ้าหนี้ (ลงทุนในเงินฝากหรือพันธบัตร) ไปเป็นเจ้าของกิจการ (ลงทุนในหุ้น) แทน ซึ่งก็เป็นเหมือนการสนับสนุนให้เงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรและวิ่งเข้าสู่ตลาดหุ้น...ทำให้ตลาดหุ้นคึกคักขึ้น โดยเฉพาะการเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่สามารถจะผ่องถ่ายอัตราเงินเฟ้อไปสู่ราคาสินค้าได้ ซึ่งก็ถือเป็นการหลบอัตราเงินเฟ้อ หรือดอกเบี้ยติดลบได้ดีอีกทางหนึ่ง 

          

   ในยุคที่เอา เงินใส่ไว้ใน “ตุ่ม” แล้วฝังดิน นั้นยังจะดีกว่าการฝากเงิน...ใครที่ยังไม่รู้ตัวว่ากำลังจะเสียเปรียบคนอื่นในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้อยู่ คงต้องหันกลับมาคิดและศึกษาทำความเข้าใจว่าตอนนี้กระแสของโลกเรานั้นกำลังวิ่งไปทิศทางไหนอยู่...


สมัยนี้...เงินทำงานยากขึ้นนะครับ !!!



นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย 
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน
และผู้แต่งหนังสือ 
  •  The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  •  The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)