3 ตุลาคม 2561
“...ตอนนี้ก็โสดจนเซ็งจะตายอยู่แล้ว ยังจะเอาอะไรกับคนโสดอีก !? ...”
นี่คงเป็นหนึ่งในเสียงตอบรับจากคนที่เคยได้ยินเรื่องของการที่มี “แนวคิดหรือข้อเสนอ” ให้มีการจับเก็บภาษีคนโสดให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยแนวคิดที่ว่านี้ ได้เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีคนโสดขึ้นมา โดยผู้ใดที่กำลังโสด (หรือไม่อยากโสด เพียงแต่ลงมาจากคานไม่ได้ก็เท่านั้น) ก็จะต้องถูกให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น
เรื่องนี้จึงเป็นที่ฮือฮาและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมากจนกลายเป็นทอร์คออฟเดอะทาวน์ (talk of the town) กันไปในช่วงนั้น หลายคนอาจจะบ่นว่าถ้าจะอยู่บนคานแล้วทำไมจะต้องเสียภาษีบนคานอีก อีกทั้งเรื่องนี้ยังพัวพันไปถึงเพศที่สามที่ไม่สามารถแต่งงานได้ ทำให้อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกชนชั้น (discrimination) ขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งโดยไม่รู้ตัว
เหตุการณ์นั้นมันซาไปแล้ว ผมเลยขอหยิบยกตัวอย่างนี้ ขึ้นมาชวนคุยเพราะแท้ที่จริงแล้ว เรื่องนี้มีวาระซ่อนเร้น (hidden agenda) อยู่ที่เรื่องการจัดการสัดส่วนประชากรหรือประชากรศาสตร์ของประเทศ ระหว่างคนวัยทำงานกับคนสูงอายุให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนเอง ก็มีการออกระเบียบการของการมีลูก ซึ่งขึ้นกับเงื่อนไขของตระกูลโคตรเหง้าว่ามีผู้สืบสกุลมาแล้วกี่คน ถ้าต้นตระกูลมีลูกน้อย ก็อะลุ่มอล่วยให้มีลูกได้มากกว่า 1 คน แต่ถ้าต้นตระกูลของทั้งฝั่งผู้ชายและผู้หญิงนั้นมีลูกมากกว่า 1 คน แล้วก็จะต้องเสียเงินในรูปของค่าปรับหรือภาษีเพิ่มเติมในกรณีที่ครอบครัวนั้นยังมีลูกมากกว่า 1 คนขึ้นมาอีก เป็นต้น
จากตัวอย่างของประเทศจีนและสิงคโปร์นั้น จะเห็นได้ทางภาครัฐได้ใช้ภาษีเป็นเครื่องจูงใจพฤติกรรมของคนในประเทศในการควบคุมปริมาณประชากรให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม โดยจีนนั้นต้องการจะจำกัดจำนวนประชากร ซึ่งตรงข้ามกับสิงคโปร์ที่ต้องการจะเร่งผลิตจำนวนประชากร
จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเองก็กำลังจะประสบกับปัญหาที่มีประชากรผู้สูงอายุอยู่มากจากยุคเบบี้บูมเมอร์ (baby boomer) ทำให้ภาครัฐมีเงินไม่พอไปเลี้ยงคนกลุ่มนี้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไทยเริ่มจะมีลูกน้อยลง ทำให้ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานค่อยๆ เหลือน้อยลงเมื่อเทียบกับประชากรที่อยู่ในวัยเกษียณที่กำลังเพิ่มมากขึ้น และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่มีแนวคิดอยากให้คนไทยหันมาแต่งงานและมีลูกกันมากขึ้น เพื่อให้เด็กที่เกิดมานี้ เป็นกำลังสำคัญในการจ่ายภาษีเข้ารัฐ และเกื้อหนุนกลุ่มคนเกษียณอายุที่ขยายตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะทำให้รัฐดูแลไม่ไหวในอนาคตอันใกล้นี้ !!!
แต่สิ่งที่แนวคิดเรื่องภาษีคนโสดนี้ได้มองข้ามไปก็คือ การมีลูกมากไม่ได้หมายความว่าจะเก็บภาษีได้มากในอนาคต มิหนำซ้ำยังอาจจะเป็นภาระของรัฐบาลในการจัดงบประมาณเพื่อขัดเกลาส่งเสริมการศึกษาให้อยู่ในระดับมาตรฐาน เพราะถ้าบุคคลากรของประเทศได้ผลิตออกมาอย่างไม่มีคุณภาพ ไม่เพียงแต่รัฐจะจัดเก็บภาษีไม่ได้ แต่อาจนำมาซึ่งปัญหาของยาเสพติด ทะเลาะวิวาท รวมถึงการโจรกรรมต่างๆ นานาในภายหลัง
ดังนั้น แทนที่จะไปเก็บ “ภาษีคนโสด” เพื่อแก้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุในอนาคต ผมว่า “การเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิต” น่าจะเป็นทางเลือกที่แก้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุได้เหมือนกัน แต่ดีกว่าการไปเก็บภาษีจากคนโสดหลายเท่า เนื่องจากการไปจัดเก็บภาษีคนโสดนั้นถึงแม้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างหนึ่ง แต่มันอาจไปทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหลายอย่าง เรียกได้ว่าการเก็บภาษีคนโสดเป็นการแก้ปัญหากันไม่ถูกจุดเสียมากกว่า
หากภาครัฐใส่เครื่องจูงใจให้ประชาชนหันมาออมเงินกันมากขึ้น ขอให้แต่ละคนมีการวางแผนทางการเงินที่ดีพอ ไม่ต้องรอพึ่งพึงสวัสดิการจากรัฐเมื่อยามเกษียณก็ได้ เพราะอนาคตมันไม่แน่นอน จริงไหมครับ?
ปีใหม่นี้ สำหรับคนที่ยังโสดอยู่ ขอให้ “อยู่เย็น เป็นโสด” กันครับ... J
โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) มือหนึ่งด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
ผู้เขียนหนังสือขายดี The Top Job Secret ภาค 2 และที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน