หลักคณิตศาสตร์ประกันภัย กับวิศวกรรมการเงิน

12 มกราคม 2564

 หลักคณิตศาสตร์ประกันภัย กับวิศวกรรมการเงิน


ศาสตร์ใหม่ ๆ บนโลกนี้เกิดขึ้นมาได้ตลอดเวลา ในปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลกันได้ง่าย รวมถึงสถานการณ์ต่าง ๆ บนโลกก็ผันผวนมากขึ้น

ต่างจากสมัยก่อนที่นักการเงินมักพูดถึงเรื่องดอกเบี้ยที่คำนวณค่าเงินวันนี้กับค่าเงินในวันหน้าเท่านั้น

เป็นที่มาในการปรับปรุงหลักการเงินแทนที่ควรมีเพียงดอกเบี้ย จึงต้องเพิ่มมุมมองของความน่าจะเป็น หรือโอกาสที่เป็นไปได้ของแต่ละสถานการณ์เข้ามาด้วย

ทำให้หลักการดังกล่าวได้เริ่มแพร่หลายออกไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา และเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน

หลักการที่กล่าวมานี้ เป็นหลักการวิศวกรรมการเงินและหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้จริง ๆ แล้วใช้หลักการเดียวกัน คือ การหาสถิติในอดีต มาประเมินเป็นความน่าจะเป็นของแต่ละสถานการณ์ในอนาคต และจากนั้นก็หาค่าเฉลี่ยของแต่ละสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา

โดยเมื่อได้การคาดการณ์ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว นำมาคำนวณโดยอาศัยหลักคณิตศาสตร์การเงินเข้ามาอีกชั้น เพื่อแปลงให้เป็นเงินมูลค่าปัจจุบันโดยสะท้อนเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เข้าไปด้วย

จึงจะทำให้การพยากรณ์อนาคตนั้นสะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ ลงในปัจจุบันได้ดีพอ

หลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและหลักวิศวกรรมการเงินนั้นได้ถูกสร้างมาจากคนที่อยากใช้หลักการนี้มาประเมินและคำนวณสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้า

ซึ่งหนึ่งในสถานการณ์ที่ทุกคนอยากรู้กัน ก็คือว่า ผลลัพธ์นั้นจะออกมาเป็นอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นผลชนะของฟุตบอล ของม้าแข่ง ของเกมโชว์ ของการแทงหวย ของการประกันภัย หรือแม้แต่ตราสารอนุพันธ์ที่ขายในตลาดหลักทรัพย์

ซึ่งหลักการนี้เราจะอาศัยทฤษฎีที่เรียกว่า “ทฤษฎีความน่าจะเป็น” ว่ามี “โอกาส” อยู่เท่าไร ด้วยเงื่อนไขหรือบริบทอะไรบ้าง ที่จะเป็นไปตามผลลัพธ์นั้น และนำมาคำนวณให้แม่นยำ

ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่มีคำว่า “โอกาส” เมื่อนั้นก็สามารถอาศัยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและหลักวิศวกรรมการเงินที่ว่านี้เข้ามาคำนวณและประเมินโอกาสนั้นให้ออกมาเป็นตัวเลขได้

หากกล่าวจริง ๆ แล้ว คณิตศาสตร์ประกันภัยกับวิศวกรรมการเงินนั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก

แม้กระทั่งเนื้อหาวิชาที่ต้องเรียนเองก็คล้ายกันมาก นักคณิตศาสตร์ประกันภัยบ่อยครั้งก็ถูกเรียกว่า เป็น นักวิศวกรรมการเงินของธุรกิจประกันภัย” เพราะมีเพียงแต่วิธีการประยุกต์ที่อาจจะแตกต่างกันบ้างเท่านั้น

จึงเห็นว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยหลายคนนิยมหันมาเรียนวิชาในวิศวกรรมการเงิน นั่นก็เพราะความคล้ายคลึงกันในเนื้อหาวิชานั่นเอง

เหตุผลที่การเรียนวิชาของคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักสูตรของวิศวกรรมการเงิน ก็คือ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องสร้างและประเมินมูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับหลักการของวิศวกรรมการเงินที่ต้องทำแบบนี้อยู่แล้ว

เพียงแต่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมักเน้นสร้างเครื่องมือทางการเงินของสวัสดิการในสังคมที่เกี่ยวข้องกับระบบประกันภัย ส่วนนักวิศวกรรมการเงินเน้นสร้างเครื่องมือทางการเงินที่เป็นพวกตราสารอนุพันธ์ หรือตราสารพิเศษ ในตลาดการเงินที่เห็นอยู่ทั่วไป


ในฐานะที่ผมเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยและนักวิศวกรรมการเงินนั้น จะเห็นว่า คณิตศาสตร์ประกันภัยมีความแตกต่างกว่าวิศวกรรมการเงินอยู่ 2 อย่าง คือ

  1.     คณิตศาสตร์ประกันภัยจะใช้ข้อมูลหรือตัวแปรที่เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันรอบตัวเรา เช่น การเกิดรถชน ไฟไหม้ น้ำท่วม เจ็บป่วยไม่สบาย หรือตาย เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นวิศวกรรมการเงินนั้น เน้นที่ข้อมูลที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์อย่างเดียว เช่น ราคาทอง ราคาหุ้น ราคาพันธบัตร หรือดอกเบี้ยต่าง ๆ แทน
  2.     ระยะเวลาของเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายกว่าวิศวกรรมการเงิน โดยถ้าเป็นแบบประกันชีวิตแล้วก็เปรียบเสมือนสร้างตราสารการเงินให้เป็นระยะยาว โดยบางแบบก็ต้องคุ้มครองถึงตลอดชีวิต แถมต้องการันตีให้ด้วย

การคำนวณจึงต้องครอบคลุมให้กว้างกว่า ต้องมองในมุมเศรษฐศาสตร์มหภาคให้ไกลมาก ๆ ได้

แต่ถ้าเป็นประกันวินาศภัยนั้นเน้นระยะเวลาที่คุ้มครองสั้น แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วก็ต้องบริหารความเสี่ยงกันยาว เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม เป็นต้น

ส่วนของวิศวกรรมการเงินนั้นยังมองภาพเป็นระยะกลาง ๆ ไม่สั้น ไม่ยาว

สุดท้ายแล้ว สำหรับคนที่ทำงานมีประสบการณ์แล้ว มักเข้าใจได้ดีเลยว่า ชื่ออาชีพกับชื่อตำแหน่งนั้น มันเป็นเพียงแค่ชื่อเท่านั้น

ไม่ว่าเราจะเรียนอะไร หรือทำอาชีพอะไรนั้น มันก็เป็นเพียงชื่อเรียกครับ

แต่สำคัญตรงที่ว่า เราใช้หลักการอะไร ทำอะไร และทำไปทำไมอยู่ต่างหาก ชีวิตจริงไม่เคยมีศาสตร์เดียวให้เรียนรู้อยู่แล้วครับ

อยู่ที่การประยุกต์ใช้ต่างหาก จริงไหมครับ?


โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยคุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่ FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)

นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย 

อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย

อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน 

และผู้แต่งหนังสือ

  • The Top job Secret ภาค 1 - อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  • The Top job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)

บทความที่เกี่ยวข้อง