เชอร์ล็อก โฮมส์ ในโลกธุรกิจ

24 กันยายน 2561

เชอร์ล็อก โฮมส์ ในโลกธุรกิจ


ในปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้นำการ์ตูนเรื่องโดราเอมอนมาเป็นบทเรียนในการเรียนการสอนสำหรับเด็กชั้นประถม โดยนำข้อคิดและตัวอย่างดี ๆ จากในการ์ตูนมาวิเคราะห์และสอนเยาวชนรุ่นใหม่ของเขากัน ซึ่งผมก็คิดว่ามันก็ดีไม่น้อย และยิ่งถ้าเราลองมาพิจารณาหนังหรือการ์ตูนบางเรื่องแล้ว ก็อาจจะทำให้ได้ข้อคิดดี ๆ ขึ้นมา โดยไม่ต้องไปอิงตำราหรือบทเรียนแต่อย่างใด

เชอร์ล็อก โฮมส์ คือใคร ?

อย่างที่ทราบกันว่าเชอร์ล็อก โฮมส์นั้นเป็นนักสืบ แต่ไม่ได้เป็นนักสืบที่คอยรับจ้างหาข้อมูลหรือประเภท “สายลับจับเมียน้อย” แต่อย่างใด เพราะถ้าทำหน้าที่แค่สืบหาข้อมูลแต่เพียงอย่างเดียวก็เป็นพระเอกในใจของใครต่อใครไม่ได้แล้วสิครับ นักสืบอย่างเชอร์ล็อก โฮมส์นั้นเขามีไว้ไขคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กหรือคดีใหญ่มาจากไหน เขาสามารถไขคดีได้หมด และสิ่งที่ทำให้เขาไขปริศนาในแต่ละคดีได้กระจ่างนั้นไม่ได้มาจากโชคช่วยแต่เพียงอย่างเดียวเป็นแน่

งานที่เชอร์ล็อก โฮมส์ทำทุกครั้งก็คืองานในการแก้ปัญหา และปัญหาส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาของสังคม

หากสังเกตงานที่เชอร์ล็อก โฮมส์ทำทุกครั้งคืองานในการแก้ปัญหา และปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาของสังคม เช่น คดีฆาตกรรมหรือคดีโจรกรรม ซึ่งทำให้ผู้เสียหายหรือคนข้างหลังเดือดร้อน ยอดนักสืบคนนี้จะเป็นผู้ที่คอยจับหาตัวคนร้ายและแก้ปัญหาปมซ่อนเงื่อนที่ซับซ้อนให้ออกมาได้อย่างง่ายดายและเป็นขั้นตอน

ซึ่งขั้นตอนในการวิเคราะห์คดีต่าง ๆของเขาสามารถทำได้รวดเร็วและแม่นยำ โดยอ้างอิงจากข่าวสารที่ได้รับมาจากการรวบรวมข้อมูลจากสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต พูดคุย หรือสืบเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ให้กับรูปคดีและสาวถึงต้นตอของเหตุการณ์นั้น ๆ ได้

สรุปแล้ว เชอร์ล็อก โฮมส์ คือ นักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ข้อมูลในการแก้ปัญหา ซึ่งตรงกับวิธีปฏิบัติงานของคนที่ต้องใช้ข้อมูล เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและนักคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยสิ่งที่อาชีพเหล่านี้ต้องทำคือ วิเคราะห์อดีต ประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน และหาทางจำลองเหตุการณ์ในอนาคต หลังจากนั้นจึงทำการวางแผนและเตรียมกลยุทธ์ให้กับองค์กรให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

และสิ่งที่สำคัญสำหรับโลกยุคใหม่ก็คือการสื่อสารเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งนำไปสู่การโน้มน้าวให้ไปถึงจุดหมายอย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด



ความเป็นมืออาชีพของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัย จำเป็นจะต้องมีวิธีคิดและปฏิบัติเหมือนกับเชอร์ล็อก โฮมส์ ดังต่อไปนี้ 

1.data collection : ช่างสังเกตและเก็บข้อมูลให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ได้มาจากสถิติของธุรกิจหรือของบริษัทก็ตาม ซึ่งรวมถึงการสอบถามข้อมูลจากส่วนงานต่าง ๆ เพื่อกลั่นกรองให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจให้มากที่สุด

2.data verification : สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลที่ได้รับมาถูกต้องหรือไม่ เพราะมีหลายคนที่โดนข้อมูลหลอกได้โดยง่าย ซึ่งถ้าข้อมูลที่ได้มานั้นไม่สมบูรณ์แล้ว ย่อมที่จะทำให้ผลวิเคราะห์ออกมาไม่สมบูรณ์เช่นกัน ดังคำพูดที่ว่า garbage in garbage out (หมายถึงใส่ขยะเข้าไป ก็ได้ผลลัพธ์เป็นขยะกลับมา)

3.data selection : เลือกใช้ข้อมูลในอดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลอยู่มากมาย

4.general knowledge : มีความรู้รอบตัวกว้างขวาง เพื่อที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจและมองเหตุการณ์ในอนาคตได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

5.intelligence : เป็นผู้นำของข่าวสารในตลาด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือการลงทุนใหม่ ๆ (เช่น ตราสารอนุพันธ์) ระบบมาตรฐานบัญชีใหม่ ๆ (เช่น IFRS) วิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยใหม่ (เช่น stem cell) เทคโนโลยีใหม่ ๆ (เช่น รถพลังแสงอาทิตย์) หรือแม้แต่พัฒนาการของโรคติดต่อ (เช่น ไข้หวัด 2009 หรือโควิด เป็นต้น)

6.history may not repeat itself : ถึงแม้จะมีข้อมูลครบถ้วนเพียงใด แต่ต้องไม่ลืมว่าประวัติศาสตร์เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นไปในอนาคต เพราะประวัติศาสตร์เป็นเพียงเครื่องเตือนใจและให้ข้อมูลทางสถิติ โดยเราจะต้องนำมากลั่นกรองอีกทีหนึ่ง ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะต้องใส่วิจารณญาณลงไปเพื่อหาบทสรุปให้ได้ด้วย

7.scenario projection : จำลองเหตุการณ์ในอนาคตหลากหลายเหตุการณ์ตามข้อมูลและสถานการณ์ที่มีในปัจจุบัน ซึ่งจุดนี้สำคัญมากสำหรับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

8.holistic solution : ปฏิบัติและใช้ได้จริง เพื่อทำให้ได้ผลลัพธ์จากเหตุการณ์ที่จำลองมาให้ได้ผลที่ดีที่สุด วิเคราะห์ วางแผน และกำหนดกลยุทธ์ที่จะดำเนินไปในภายหน้า

9.risk management : จัดการความเสี่ยงในอนาคตเพื่อเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่อาจเกิดขึ้น

และ 10.elaborate and articulate : อธิบายและสื่อสารให้กับคนรอบข้างได้ดี เพื่อเอาตัวรอดจากสภาวะคับขันได้ เพราะในโลกความเป็นจริงนั้น การมีแค่ “บุ๋น” หรือความรู้จากตำราเพียงอย่างเดียวคงจะไม่พอ แต่ต้องมีเซนส์คาดการณ์ล่วงหน้า ต้องรู้ว่าต้องเริ่มต้นที่จุดไหน และอะไรเป็นตัวชักนำ

โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยคุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่ FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)

นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย 

อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย

อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน 

และผู้แต่งหนังสือ

  • The Top job Secret ภาค 1 - อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  • The Top job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)

บทความที่เกี่ยวข้อง