นิยามความหมายของ “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย”
นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (อังกฤษ: Actuary) หรือ แอคชัวรี คือ นักธุรกิจมืออาชีพ ซึ่งใช้ความเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์ เพื่อประเมิน วิเคราะห์ และคาดการณ์ ผลกระทบทางด้านการเงินของความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ ในธุรกิจ หรืออีกนัยคือ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือ แอคชัวรี (Actuary) เป็นนักวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีทักษะรอบตัวทางด้านคณิตศาสตร์สถิติศาสตร์ การเงิน รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญในการประเมินผลกระทบ ทางการเงินจากความไม่แน่นอนในปัจจุบันและเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคตโดยการ
- วิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต
- จำลองเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
- วิเคราะห์ความเสี่ยง
- สื่อสารผลการวิเคราะห์ที่มีนัยทางการเงิน
ความสามารถของ “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย”
นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) สามารถที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดล (Models) คาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) อาจจะพยากรณ์ในระยะยาวเพื่อที่จะประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด และโอกาสของสิ่งที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดของเหตุการณ์ในอนาคต บางครั้งพวกเขาถูกเรียกว่า "นักวิศวกรการเงิน" หรือ "นักคณิตศาสตร์เพื่อสังคม" เพราะความสามารถทางธุรกิจและความสามารถทางการวิเคราะห์ อันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทางธุรกิจและสังคมที่นับวันจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ
ความสามารถของ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) ที่กล่าวมาได้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งยวดสำหรับธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย โดยใช้พื้นฐานของหลักการทางคณิตศาสตร์ สถิติประยุกต์ เศรษฐศาสตร์มหภาค เศรษฐศาสตร์จุลภาค ทฤษฎีการเงิน ทฤษฎีดอกเบี้ย การโมเดลความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ การสร้างสมการถดถอย หรือแม้กระทั่งวิชาที่ว่าด้วยธุรกิจประเภทต่างๆ ที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) ต้องเอาไปใช้ประยุกต์ เช่น ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันวินาศภัย ธุรกิจประกันกลุ่ม ธุรกิจประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ การจัดการความเสี่ยงในด้านการเงิน การประกันต่อ และการจัดการกองทุนบำเน็จบำนาญ เป็นต้น
ถ้าจะให้กล่าวอย่างสั้นๆ สำหรับความหมายของ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) ก็คือ นักจำลองความเสี่ยงทางการเงินเรื่องที่ไม่แน่นอนให้ดูแน่นอน โดยเอาข้อมูลและตัวเลขมายืนยันกันให้ทุกฝ่ายเข้าใจ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) ยังต้องใช้ทักษะความรู้ด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงบวกกับความรู้เชิงธุรกิจ เพื่อช่วยให้เกิดการบริหารและ การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ (Actuaries Enable More Informed Decision)
ดังนั้น นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) จึงมีบทบาทและความรับผิดชอบทั้งต่อภาคธุรกิจ และต่อเสถียรภาพทางการเงินของสังคมส่วนรวม โดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) มีหน้าที่ในการรักษาสมดุลที่ดีระหว่างการดูแลประโยชน์ของบริษัทประกันภัยและผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยรวมทั้งการดูแลผลประโยชน์ของสมาชิกของกองทุนบำเหน็จบำนาญต่างๆ (Actuaries Safeguard the Financial Interests of the Public)
บทบาทของ “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย”
นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) มีบทบาทสำคัญต่อทุกภาคธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคบริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันภัย สถาบันการเงินต่างๆ ธนาคารพาณิชย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ
นอกจากนี้ ยังมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) อีกจำนวนไม่น้อยที่ทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือแม้กระทั่งการเป็นที่ปรึกษาอิสระ ถือได้ว่าเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่มีความยืดหยุ่นสูง และมีอิสระในการเป็นเจ้านายตนเอง
ปัจจุบันงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมประกันภัย นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) จะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการคิดรูปแบบกรมธรรม์ต่างๆ กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย และคอยติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
นอกจากนี้ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) ยังคอยดูแลเงินกองทุนของบริษัทให้เพียงพอสำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนให้คำแนะนำด้านการลงทุนสินทรัพย์ ต่างๆ ซึ่งเปรียบเทียบได้ว่าเป็นมันสมองของบริษัท
วิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย
นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) เป็นวิชาชีพที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงและมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนตามความสามารถของตน รวมทั้งเป็นที่ต้องการมากในตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นอาชีพระดับหัวกะทิและมีสถานะที่สูงในสายตาของวิชาชีพอื่นๆ ทางการเงิน ในปี 2556 และหลายๆ ปีที่ผ่านมาอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) ติดอันดับในกลุ่ม "อาชีพที่ดีที่สุด" ของการสำรวจจากแหล่งต่างๆ เช่น Career Cast และ Career-advice ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการจัดอันดับคำนึงถึง รายได้, สภาพแวดล้อม, ความก้าวหน้า, ความมั่นคง และความเครียดในการทำงาน นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นที่ต้องการทั่วโลกเพราะความสามารถรอบด้านของพวกเขา และกำลังเคลื่อนที่จากคนทำงานเบื้องหลังมายังตำแหน่งบริหารมากขึ้น วิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่มีจริยธรรม พร้อมด้วยมาตรฐานของความประพฤติ, ความซื่อตรง, ความสามารถ และการตัดสินใจอย่างมืออาชีพ ซึ่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมีต่อบริษัทที่ทำงานอยู่และต่อลูกค้าของพวกเขา
เนื่องจากนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) ที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก จึงทำให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยได้รับผลตอบแทนเป็นรายได้ที่สูง ทั้งนี้เรื่องของเงินเดือนและความก้าวหน้าขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถจากการสอบจนได้รับคุณวุฒิเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ในการที่จะได้รับคุณวุฒิเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) จำเป็นต้องสอบผ่านข้อสอบวิชาชีพหลายวิชาของสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เช่น คณิตศาสตร์การเงิน, ทฤษฎีความเสี่ยงและความน่าจะเป็น, ทฤษฎีดอกเบี้ย, ทฤษฎีความน่าเชื่อถือและการแจกแจงการสูญเสีย และอื่นๆ เป็นต้น
ระดับคุณวุฒิของ “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย”
คุณวุฒิ (designation) ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) นั้นแบ่งออกได้หลายระดับและหลายประเภท ตามที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) นั้นๆ สามารถสอบผ่านการวัดระดับความรู้จากสมาคมวิชาชีพด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยต่างๆ โดยแต่ละสมาคมจะจัดการสอบวัดผลในแต่ละระดับขึ้นทุกปีตามศูนย์สอบในเมืองใหญ่ๆ ของแต่ละประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งสมาคมวิชาชีพด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยแต่ละแห่งนั้นจะมีกำหนดชื่อเรียกคุณวุฒิดังกล่าวแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น
- FCAS = Fellow of the Casualty Actuarial Society (USA)
- ACAS = Associate of the Casualty Actuarial Society (USA)
- FSA = Fellow of the Society of Actuaries (USA)
- ASA = Associate of the Society of Actuaries (USA)
- FIA = Fellow of the Institute of Actuaries (UK)
- AIA = Associate of the Institute of Actuaries (UK)
- FCIA = Fellow of the Canadian Institute of Actuaries
- FIAA = Fellowship of Institute of Actuaries of Australia
ซึ่งคุณวุฒิของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยตามที่ได้รับรองตามมาตรฐานจากสมาคมวิชาชีพนั้น โดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ ระดับแอสโซซิเอท (Associateship) และระดับเฟลโล่ (Fellowship) โดยเกณฑ์ที่จะต้องผ่านการสอบวัดผล ในระดับ "เฟลโล"นั้นจะมีมากกว่าระดับ"แอสโซซิเอท" ตัวอย่างเช่น ระดับแอสโซซิเอทของ CAS หรือที่เรียกว่า ACAS จะต้องผ่านการสอบวัดผลรวมทั้งสิ้น 7 วิชาหลัก ในขณะที่ระดับเฟลโล่ของ CAS หรือ FCAS ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุด จะต้องผ่านการสอบวัดผลเพิ่มอีก 2 วิชาหลัก โดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับและสามารถทำงานได้ทั่วโลก จะต้องผ่านการสอบเพื่อรับรองมาตรฐานจากสมาคมชั้นนำด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ตามสายงานด้านประกันภัยที่ตนเองสนใจหรือประกอบอาชีพในด้านนั้น
นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน
และผู้แต่งหนังสือ
- The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
- The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน
- ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
- ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)
Like
Share