บทบาทของผู้กำหนดนโยบายกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

25 กันยายน 2561

ในฉบับนี้ผมขออนุญาตยกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับทิศทางของภาพรวมในประเทศ เพื่อการขับเคลื่อนเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืนและมั่นคง โดยการช่วยกันมองภาพต่างๆ ให้กว้างและไกลขึ้น ซึ่งผมยังจำปาฐกถาที่เคยได้รับฟังจาก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านหนึ่ง

"คุณกรณ์ จาติกวณิช" ที่เคยได้กล่าวไว้ให้กับสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และค่อนข้างสอดคล้องกับทิศทางของประเทศที่กำลังจะมุ่งไป ซึ่งปาฐกถาของท่าน (ในครึ่งแรก) มีดังนี้

“ผมเชื่อว่าเราต้องการ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย มากขึ้นกว่าเดิม เพราะสังคมเรานั้นสนใจแต่การแก้ปัญหาระยะสั้น โดยไม่มีใครสนใจแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเพียงพอ เราจึงต้องการคนที่ไม่ตามกระแส แต่มองภาพไปที่ระยะยาวแทน
จากประสบการณ์ของผมทั้งในภาครัฐบาลและภาคธุรกิจ ผมบอกได้ว่าแนวคิดที่มองไปที่ข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่านั้นที่จะช่วยจัดการความเสี่ยงและทำให้อยู่รอด โดยเป็นตัวแบ่งแยกระหว่างความสำเร็จออกจากความล้มเหลว

ผมได้ผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยหลายครั้ง เช่น วิกฤติการเงินต้มยำกุ้งในปี 2540 ซี่งตอนนั้นมีนักวิเคราะห์ออกมาเตือนล่วงหน้าเป็นเวลา 3 ปีเต็มๆ แต่คนทั่วไปกลับไม่สนใจคำเตือนนี้ และในปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วม ธนาคารโลกได้ประมาณความเสียหายของประเทศไทยถึง 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถูกจัดอันดับความเสียหายเป็นอันดับ 4 ของโลก ตั้งแต่ที่เคยมีการเก็บสถิติมหันตภัยมา เหตุการณ์น้ำท่วมนี้ เกิดจากธรรมชาติ หรือว่า เราสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ?

หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง เราได้มีการปรับปรุงการกำกับดูแลในเรื่องงบประมาณและการตรวจสอบสถาบันการเงินให้เข้มงวดขึ้น เห็นได้จากในปี 2551 ได้เกิดวิกฤติการณ์ hamburger crisis ซึ่งส่งผลกระทบต่อฝั่งตะวันตก แต่ไม่ได้กระทบต่อสถาบันการเงินฝั่งเอเชียมากนัก เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าการปรับปรุงของเราได้ผล และถ้าเราทำมันก่อนปี 2540 ก็คงไม่เกิดวิกฤติการเงินต้มยำกุ้งเป็นแน่ และถ้าหน่วยงานทุกฝ่ายเข้าใจข้อมูลและได้มีการวิเคราะห์เรื่องน้ำกันอย่างดีพอ เราก็คงจะหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในไทยได้แน่นอน 

           การที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งนั้น นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการประเมินวิเคราะห์ความเสี่ยงในอนาคตหรือไม่? หรือ ผู้กำหนดนโยบายอย่างผมที่ทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ? หรือ ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจผิดพลาดจากข้อมูลที่ได้จากนักคณิตศาสตร์ประกันภัย? หรือเราไม่สามารถมีข้อมูลที่ดีพอ?

ผมมองว่าเป็นความผิดพลาดของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายนักคณิตศาสตร์ประกันภัย มีข้อมูล แต่ขาดการนำเสนอให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รู้ตัว ส่วนฝ่ายระดับนโยบาย จริงๆ เรามีข้อมูลที่วิเคราะห์เอาไว้ แต่ขาดการนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะการตัดสินใจแต่ละอย่างส่วนใหญ่เกิดจากการหวังผลทางการเมืองในระยะสั้น

มันไม่ใช่ความผิดของนักการเมือง แต่เป็นความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองเสียมากกว่า เช่น ทางภาครัฐตัดสินใจที่จะลดระดับน้ำในเขื่อนลง ทั้งๆ ที่ข้อมูลระบุชัดเจนว่าหลังจากน้ำท่วมไปแล้ว 1 ปี (พ.ศ. 2555) จะเกิดภาวะแล้งขึ้น จนในปี พ.ศ. 2555 นั้นก็เกิดภาวะแล้งครั้งใหญ่ขึ้นจริง โดยที่น้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ

คำถามที่ฝากไปคิด คือ นักการเมืองตัดสินใจอย่างไม่มีเหตุผล หรือไม่ยอมเชื่อข้อมูลจากนักวิเคราะห์กันแน่ อันที่จริงเป็นเพราะความเสี่ยงทางการเมืองมากกว่าหรือไม่ เพราะในตอนนั้นภาวะแล้งจะถือเป็นปัญหาใหม่ ซึ่งคงจะไม่ค่อยมีคนวิจารณ์กันซักเท่าไหร่ แต่หากเกิดน้ำท่วมซ้ำอีกครั้ง อันนั้นประชาชนคงรับไม่ได้แน่

 

          ดังนั้น นักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่วิเคราะห์มาจะเป็นไปในทิศทางใด หากคนที่นำข้อมูลเหล่านั้นไปตัดสินใจแล้วปรากฎว่าออกมาผิดทาง (เช่น ปรากฎว่าไม่มีภาวะแล้ง แต่เกิดน้ำท่วมซ้ำรอยแทน) ก็จะมีผลทางการเมืองอย่างมากกับคนที่ตัดสินใจ 

          หรือ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะทำอย่างไรที่จะผลักดันให้ ผู้กำหนดนโยบายได้ตัดสินใจบนการพยากรณ์หรือจำลองอนาคตถึงภัยพิบัติล่วงหน้า ทั้งๆ ที่รู้ว่าถ้าทำแล้วก็จะยังไม่เห็นผลลัพธ์ในทันที (แต่จะเกิดในระยะยาว ซึ่งผู้กำหนดนโยบายตอนนั้นอาจจะเปลี่ยนคน และปิดทองหลังพระไป) 



โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) มือหนึ่งด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons) 
ผู้เขียนหนังสือขายดี The Top Job Secret ภาค 2 และที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน