28 กันยายน 2561
คุณกรณ์ จาติกวณิช" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ได้ให้ปาฐกถากับสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ไว้ดังนี้
“ผมเชื่อว่าเราต้องการนักคณิตศาสตร์ประกันภัย มากขึ้นกว่าเดิม ที่ผมบอกแบบนี้ก็เพราะผมเห็นว่าสังคมเรานั้น Very Short-term Focused เกินไป ทุกวันนี้คนสนใจแต่การแก้ปัญหาระยะสั้น โดยไม่มีใครสนใจที่จะมองการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเพียงพอ เราจึงต้องการคนที่ไม่หลงตามกระแสไม่หลงตามประชานิยมแต่มองภาพไปที่ระยะยาว โดยสรุปเราต้องการนักคณิตศาสตร์ประกันภัย
จากประสบการณ์ของผมทั้งในภาครัฐบาลและในภาคธุรกิจ ผมสามารถบอกได้ว่าแนวคิดที่มองไปที่ข้อมูล และข้อเท็จจริงเท่านั้นที่จะช่วยจัดการความเสี่ยงและทำให้อยู่รอด โดยเป็นตัวแบ่งแยกระหว่างความสำเร็จออกจากความล้มเหลว ผมได้ผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดกับประเทศไทยหลายครั้ง ในช่วงการทำงาน 20 ปีที่ผ่านมาของผมเราสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดีทุกครั้ง ถ้าเราให้ความสำคัญกับข้อมูลที่มีอยู่ให้มากพอ เคยเกิดวิกฤตการเงินซึ่งบางคนคงจำกันได้ในช่วงปี พ.ศ. 2540 โดยก่อนที่จะเกิดวิกฤตนี้ ได้มีนักวิเคราะห์ได้ออกมาเตือนล่วงหน้าก่อนเป็นเวลา 3 ปีเต็ม ๆ แต่คนทั่วไปเลือกที่จะไม่สนใจกับคำเตือนนี้
และก็อีกครั้งในปี พ.ศ. 2554 ที่เกิดน้ำท่วมซึ่งธนาคารโลกได้ประมาณความเสียหายของประเทศไทยถึง 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้ถูกจัดอันดับเป็นความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์ของโลกตั้งแต่ที่เคยมีการเก็บสถิติมหันภัยมา
คำถามคือ น้ำท่วมของประเทศไทยนี้ เป็นการเกิดจากธรรมชาติโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย หรือ เราสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าได้หรือไม่
หลังจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งใน ปี พ.ศ. 2540 เราได้มีการปรับปรุงการกำกับดูแลในเรื่องงบประมาณ และการตรวจสอบสถาบันการเงินให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วเราสามารถพัฒนากระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นมาได้ตั้งแต่แรก (วัวหายล้อมคอก) และในปี พ.ศ. 2551 (Hamburger Crisis) ที่เป็นวิกฤตการทางการเงินของโลกอีกครั้ง จะเห็นว่ามันมีผลกับทางฝั่งโลกตะวันตกเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบกับสถาบันการเงินในฝั่งเอเชียเท่าใดนัก ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์ในประเด็นนี้ได้ว่าการพัฒนาในเรื่องการกำกับดูแลของเรานั้นได้ผล และถ้าเราทำมันขึ้นมาก่อน พ.ศ. 2540 ก็คงจะไม่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเป็นแน่ และก็เป็นที่เชื่อกันว่าถ้าหน่วยงานทุกฝ่ายเข้าใจข้อมูล และได้มีการวิเคราะห์เรื่องน้ำกันอย่างดีพอ เราก็คงจะหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในไทยได้เป็นแน่
คำถามคือ ในปี พ.ศ. 2540 วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งนั้น นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการประเมินวิเคราะห์ความเสี่ยงในอนาคตหรือไม่? หรือ Policymaker (ผู้กำหนดนโยบาย) อย่างผมที่ทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ? หรือ Policymaker (ผู้กำหนดนโยบาย) ตัดสินใจกันผิดพลาดจากข้อมูลที่ได้จากนักคณิตศาสตร์ประกันภัย? หรือเป็นเพราะเราไม่สามารถมีข้อมูลที่ดีพอ?
ในความคิดของผม ผมว่าเป็นความผิดพลาดของทั้งสองฝ่าย ในส่วนของ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย เราไม่ได้ขาดข้อมูลแต่เราขาดการนำเสนอข้อมูลให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รู้ตัว ในส่วนของระดับนโยบายเองที่ยิ่งแย่ไปกว่า ผมบอกได้ว่าเรามีข้อมูลที่วิเคราะห์เอาไว้เพียงแต่ขาดการนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจแต่ละอย่าง โดยเฉพาะการตัดสินใจแต่ละอย่างส่วนใหญ่เกิดจากการหวังผลทางการเมืองในระยะสั้นเสียมากกว่า
มันไม่ใช่ความผิดของนักการเมือง แต่มันเป็นเรื่องของการจัดการความคาดหวังของประชาชนกับนักการเมืองเสียมากกว่า เช่น เหตุกาณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากน้ำท่วมใหญ่ไปแล้ว 1 ปี โดยในตอนนั้นทางภาครัฐได้ตัดสินใจที่จะลดระดับน้ำในเขื่อนลง ทั้ง ๆ ข้อมูลระบุออกมาชัดเจนอยู่แล้วว่าหลังจากน้ำท่วมไปแล้ว 1 ปี (พ.ศ. 2555) จะเกิดภาวะแล้งขึ้น และแล้วในปี พ.ศ. 2555 นั้นก็เกิดภาวะแล้งครั้งใหญ่ขึ้นจริง โดยที่น้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ
คำถามคือนักการเมืองตัดสินใจอย่างไม่มีเหตุผล หรือเป็นเพราะไม่ยอมเชื่อในข้อมูลจากนักวิเคราะห์กันแน่ ซึ่งในคำตอบนั้น จริง ๆ แล้วเป็นเพราะความเสี่ยงทางการเมืองมากกว่า เนื่องจากรัฐบาลไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นมาซ้ำรอยเดิม โดยถึงแม้ว่าภาวะแล้งจะแย่ แต่ก็ถือว่าเป็นปัญหาใหม่ ซึ่งจะไม่มีใครกล่าววิพากษ์วิจารณ์กันเท่าไร แต่ลองคิดดูว่า ถ้าเกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำรอยอีกครั้ง อันนั้นประชาชนคงจะรับไม่ได้เป็นแน่
ดังนั้น นักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะทำให้รู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่ให้นั้นจะทำให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะถ้าคนที่เอาข้อมูลเหล่านั้นไปตัดสินใจแล้วปรากฎว่าออกมาผิดทาง (เช่น ปรากฎว่าไม่มีภาวะแล้ง แต่เกิดน้ำท่วมซ้ำรอยแทน) ก็จะมีผลทางการเมืองอย่างมากกับคนที่ตัดสินใจ
หรือ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะทำอย่างไรที่จะผลักดันให้ Policymaker (ผู้กำหนดนโยบาย) ได้ตัดสินใจบนการพยากรณ์หรือจำลองอนาคตถึงภัยพิบัติล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ถ้าทำแล้วก็จะยังไม่เห็นผลลัพธ์ในทันที (แต่จะเกิดในระยะยาว ซึ่งผู้กำหนดนโยบายตอนนั้นอาจจะเปลี่ยนคน และปิดทองหลังพระไป) ในความเห็นของผม ผมคิดว่าคำตอบนั้นคือ ผู้กำกับดูแล (Regulator) ซึ่งเป็นคนที่ใช้อำนาจกฎหมายระหว่าง Policymaker (ผู้กำหนดนโยบาย) และ นักวิเคราะห์ นักวางระบบ เช่น นักคณิตศาสตร์ประกันภัย เป็นต้น
ธนาคารกลาง (ธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นตัวอย่างที่ดี ที่วิเคราะห์ความเสี่ยงในตลาดการเงิน และออกมาสื่อสารกับสาธารณะ พร้อมทั้งเตือนเรื่องอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบการเงินของประเทศ ซึ่งถ้าภาคธนาคารก้าวกระโดดเร็วเกินไป ธนาคารกลางก็จะออกมากำกับให้ใกล้ชิดขึ้น หรือถ้าการผู้ยืมมีมากเกินไป ธนาคารกลางก็จะออกมาขึ้นดอกเบี้ย
ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) จึงเกิดขึ้นมา เพราะการตัดสินใจในทิศทางของประเทศเหล่านี้ไม่ควรตกอยู่ในมือของนักการเมืองแต่เพียงผู้เดียว ยังมีหลาย ๆ อย่างที่ หน่วยงานกำกับทั้งหลายต้องใช้ความพยายามเพื่อที่จะสร้างการเชื่อมต่อระหว่างบทวิเคราะห์ของ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย กับการตัดสินใจทางการเมือง เพราะถ้าเราล้มเหลวที่จะสร้างการเชื่อมต่อเหล่านี้ ประเทศของเราคงจะเผชิญหน้ากับความลำบากในอนาคตข้างหน้าเป็นแน่ และสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ประเทศไทยแห่งเดียวที่ต้องเผชิญ แต่มันเป็นเรื่องท้าทายกับประเทศในแถบเอเชียทั้งหมด ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี พ.ศ. 2540 นั้น เราได้เชื่อมโยงกัน เพราะการกำกับดูแลได้พัฒนาขึ้นแล้ว
ขออนุญาตยกอีกตัวอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับปัญหาประชากรศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย โดยไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตนี้มากกว่าประเทศอื่น ๆ แต่ไทยเองก็แทบจะไม่ได้เตรียมการอย่างเพียงพอ เรื่องปัญหาสวัสดิการหลังการเกษียณอายุจะอยู่กับประเทศไปอีกนาน และนี่ไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาในระดับการเมือง แต่จะมีผลกระทบกับสังคมเราอย่างมาก โดยภายในอีก 20 ปีข้างหน้า ไทยเรากำลังจะเปลี่ยนจาก “คนทำงาน 4 คน ต่อ คนสูงอายุ 1 คน” กลายเป็น “คนทำงาน 2 คน ต่อคนสูงอายุ 1 คน” และเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมตัวกันตั้งแต่วันนี้
อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือเรื่องน้ำ ที่ไม่ใช่น้ำท่วม แต่เป็นเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำที่ขาดแคลน จะมีต้นไม้หรือพืชเศรษฐกิจชนิดไหนที่ควรปลูกในสถานการณ์ที่น้ำเป็นสิ่งหายาก ควรจะปลูกมันที่ไหน คำถามเหล่านี้ยังเป็นประเด็นที่รอคำตอบอยู่
ในบางครั้งคราว ที่วิชาชีพ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย และ Policymaker (ผู้กำหนดนโยบาย) ได้ทำงานร่วมกัน โดยจากนโยบายที่ผ่านมาที่ผมได้รับผิดชอบในช่วงสมัยปี พ.ศ. 2554 นั้น คือ การประกันพืชผล โดยเอาเรื่องความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศออกไปจากการทำการเกษตร และเพิ่มความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในวงกว้างเท่าไรนัก เพราะความเสี่ยงควรที่จะต้องถูกกระจายออกไปให้เพียงพอมากกว่านี้ เพื่อให้เบี้ยประกันภัยอยู่ในระดับที่รับได้
แต่ผมเชื่อว่าประเทศไทยในอนาคตจะสามารถก้าวผ่าน “กับดักรายได้ปานกลาง” ไปได้ ถ้าเราสามารถจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อการนั้น ไม่เพียงแต่เราจะต้องพัฒนาวิชาชีพคณิตศาสตร์ประกันภัยให้มีมาตรฐานและ จำนวนมากเพียงพอ แต่เรายังจะต้องสร้างความชัดเจนระหว่างวิชาชีพคณิตศาสตร์ประกันภัย กับกระบวนการตัดสินใจต่าง ๆ ของประเทศ และถ้าเราทำให้มันสำเร็จได้ เราจะพัฒนาประเทศไปด้วยกัน ...ด้วยข้อมูลและตัวเลขที่เหมาะสม”
Credit: งาน The 19th Asian Actuarial Conference ณ โรงแรมแชงกรีล่า 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2558
โดย: อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) มือหนึ่งด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
ผู้เขียนหนังสือขายดี The Top Job Secret ภาค 2 และที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน