24 สิงหาคม 2561
ค่าชดเชย "กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด" (ฉบับอัพเดท)
เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ รับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเพิ่มอัตราค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป...
ในกรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด หลายคนอาจจะอยากทราบว่า จะสามารถเรียกร้องค่าชดเชยในกรณีอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีมาดูอัตราค่าชดเชย "กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด" ฉบับอัพเดทล่าสุด โดยเพิ่มกรณีที่ ลูกจ้างมีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป...
ค่าชดเชย หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แม้ว่านายจ้างจะจ่ายเงินบำเหน็จ หรือ เงินตอบแทนความดีความชอบสูงกว่าค่าชดเชย ก็ไม่อาจทดแทนค่าชดเชยเพราะเป็นเงินคนละประเภท ในที่นี้ คือ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้าง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้...
1. ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน
ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างตามผลงาน
2. ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายเท่ากับค่าจ้าง 90 วัน
ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างตามผลงาน
3. ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายเท่ากับค่าจ้าง 180 วัน
ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างตามผลงาน
4. ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายเท่ากับค่าจ้าง 240 วัน
ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างตามผลงาน
5. ทำงานครบ 10 ปีขึ้นไป จ่ายเท่ากับค่าจ้าง 300 วัน (มาตรา 118)
ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างตามผลงาน
6. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป (ใหม่)
ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างตามผลงาน
"แม้ร่างแก้ไขกฎหมายนี้ จะผ่านความเห็นชอบของ ครม. แต่ยังต้องเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่อาจมีภาคเอกชนที่ไม่เห็นด้วย อาจเสนอขอแปรญัตติแก้ไขสาระจากเดิม จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใช้แรงงานต้องสนใจ และร่วมเรียกร้อง ขอให้สาระเดิมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง"
อ้างอิง : กระทรวงแรงงาน / หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ
Like Share