งานหน้าบ้านของแอคชัวรี

17 ตุลาคม 2561

จากครั้งที่แล้วที่ได้กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ในรายการ ก้าวทันประกันภัย” ทางช่อง Nation Channel ซึ่งก็ได้พูดคุยเกี่ยวกับอาชีพ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และอาชีพนี้ทำอะไรบ้าง รายการนี้เป็นรายการสด เพราะฉะนั้นคำถาม และคำตอบจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้จึงออกมาแบบสด ๆ เป็นธรรมชาติซึ่งก็มีคำถามที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “ในแต่ละวันนั้น แอคชัวรี ได้ทำอะไรบ้าง”


พอได้ฟังคำถามนี้เท่านั้น ก็รู้สึกได้ทันทีว่าเป็นคำถามที่ดีมาก เพราะเชื่อว่าคงมีหลายคนไม่น้อยที่จะนึกสงสัยว่าจำเป็นด้วยหรือที่บริษัทจะต้องมีแอคชัวรีกันมากมาย เพื่อมานั่งคำนวณเบี้ยประกันภัยในบริษัทประกันภัย


เมื่อฟังคำถามจบผมก็อดยิ้มที่มุมปากไม่ได้ ก่อนที่จะตอบไปว่าหน้าที่ของ แอคชัวรี คงมีมากกว่าที่ทุกคนได้เห็นกันอยู่ เพราะงานของแอคชัวรีถ้าจะเปรียบง่าย ๆ แล้วก็ยังแบ่งออกเป็นงานหน้าบ้าน กับงานหลังบ้าน ซึ่งคราวนี้ผมขอเริ่มอธิบายงานหน้าบ้านก่อน


งานหน้าบ้าน เป็นงานที่เกี่ยวกับการออกแบบประกันภัย เพื่อหาความเป็นไปได้ว่าบริษัทจะสามารถขายสินค้าที่เป็นกระดาษแบบนี้ออกมาได้หรือไม่ ซึ่งมันก็เหมือนกับเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility) ก่อนที่บริษัทจะเริ่มลงมือลงทุนไปกับโครงการนี้ โดยการที่จะรู้ว่าโครงการนี้จะสำเร็จได้หรือไม่ก็คงต้องดูกันว่าจะขายได้หรือไม่ และถ้าขายได้แล้วบริษัทจะสามารถแบกรับหนี้ไปตลอด เพื่อจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้าได้ครบถ้วนตามจำนวน และตามระยะเวลาที่กำหนดได้หรือไม่ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าบริษัทจะต้องรู้ว่าโครงการนี้พอมีกำไรเลี้ยงตัวเองได้ และการที่จะรู้ว่ามีกำไรหรือไม่นั้นบริษัทก็จะต้องรู้ต้นทุนเสียก่อน


งานหน้าบ้านของแอคชัวรีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

             

ต้นทุนที่ว่าสำหรับบริษัทประกันภัยนี้ เป็นต้นทุนที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเท่าไร ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นจะต้องอาศัยหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อประมาณการหาต้นทุนของความเสี่ยงจากการวิเคราะห์อดีตและจำลองอนาคตขึ้นมา


การทำงานหน้าบ้านแบบนี้จะต้องมองการณ์ไกลเผื่ออนาคตที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การตัดต่อยีน เทคนิคการแพทย์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้นหรือแม้กระทั่งรถยนต์พลังแสงอาทิตย์ที่อาจจะเป็นที่แพร่หลายในอนาคตก็ได้ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการทำงานร่วมมือกับแผนกการตลาด และฝ่ายขายเพื่อที่จะเข้าใจสภาพตลาด และมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ออกแบบมานั้นสามารถนำไปขายได้จริง


ดังนั้น แอคชัวรี จึงไม่ได้ทำแค่การคำนวณเบี้ยประกันภัยแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่การจะขายแบบประกันแต่ละอย่างออกมาได้นั้น อาจจะต้องออกแบบประกันมาเป็นสิบตัว เพื่อเลือกแบบที่เหมาะสมที่สุดกับตลาดนั่นเอง งานหน้าบ้านปกติแล้วจึงต้องคอยติดต่อกับฝ่ายต่าง ๆ ต่อไปนี้

1. ฝ่ายการตลาด (Marketing) และช่องทางการจัดจำหน่าย (Distribution Channel) ไม่ว่าจะเป็นตัวแทน (Agency) ธนาคาร (Bancassurance) หรือการขายตรง (Direct Marketing) เพื่อพูดคุยกันว่าแบบประกันที่จะเอาออกไปขายนั้นสามารถขายได้หรือไม่ และมีผลประโยชน์ให้กับช่องทางการจัดจำหน่าย และลูกค้าที่สมดุลหรือไม่ เป็นต้น

2. พิจารณารับประกัน (Underwriting) และพิจารณาการจ่ายค่าสินไหม (Claim) ที่ต้องมั่นใจว่าความเสี่ยงที่บริษัทรับเข้า และเม็ดเงินที่จะจ่ายออกไปนั้นสอดคล้องกับเงื่อนไขในการจ่ายผลประโยชน์ และการจัดการความเสี่ยงที่ได้ประเมินไว้ในการคำนวณตามหลักการคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือไม่ เพราะการได้พูดคุยกับฝ่ายนี้ จะทำให้แอคชัวรีเห็นภาพออกว่าความเสี่ยงที่บริษัทจะรับเข้ามานั้นมีมากน้อยแค่ไหน

3. กฎหมาย (Legal) ที่จะช่วยร่างสัญญากรมธรรม์ให้มีความถูกต้อง และครอบคลุมไปตลอดอายุสัญญาของกรมธรรม์

4. ฝ่ายระบบดำเนินการ (Operation system) ที่จะต้องรองรับระบบปฏิบัติการของบริษัทได้

5. คณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่จะต้องอนุมัติแบบประกันแต่ละแบบก่อนที่จะออกขายสู่ท้องตลาด โดยจะต้องมีแอคชัวรีที่เซ็นกำกับรับรอง เหมือนกับวิศวกรโยธาที่เวลาจะสร้างแบบแปลนตึกที่ต้องเซ็นกำกับรับรอโครงสร้างของตึก


ปกติเราเรียกแอคชัวรีที่ทำงานหน้าบ้านว่า

“โปรดักส์แอคชัวรี (Product Actuary)”

หรือ “มาร์เก็ตติ้งแอคชัวรี (Marketing Actuary)” กัน


ที่มา : วารสารประกันภัย


โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) มือหนึ่งด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons) 

ผู้เขียนหนังสือขายดี The Top Job Secret ภาค 2 และที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน



Like Share

บทความอื่น