ทอมมี่ แอคชัวรี นักปั้น... คนคณิตศาสตร์ประกันภัย

22 กุมภาพันธ์ 2562

ทอมมี่ แอคชัว นักปั้น... คนคณิตศาสตร์ประกันภัย



        หากย้อนเวลากลับไปในช่วงวัยเรียนแล้ว ดูเหมือนวิชาคณิตศาสตร์แบบ บวก ลบ คูณ หาร จะเป็นยาขมชั้นเยี่ยมสำหรับหลายๆ คน ที่คอยสกัดกั้นความอยากรู้อยากเห็นให้ลดน้อยถอยลง แต่สำหรับบางคนแล้ววิชาคณิตศาสตร์กลับกลายเป็นยากระตุ้นชั้นยอดเมื่อผู้เรียนรู้ด้วยใจรักและสนุกไปกับมัน จนนำมาต่อยอดและมุ่งสู่อาชีพที่ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตจนมาถึงทุกวันนี้

        อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือแอคชัวรี (Actuary) ปัจจุบันถือว่าได้เป็นอาชีพชั้นนำระดับแนวหน้าของโลกที่ยังมีความต้องการสูง และสามารถทำงานได้ทั่วโลก

        ความจริงแล้ว แอคชัวรีไม่ได้ทำงานแค่ในธุรกิจประกันภัยตามเชื่อเท่านั้น แต่สามารถทำงานได้ทั้งในบริษัทประกันภัย สถาบันการเงินต่างๆ ธนาคารพาณิชย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และหน่วยงานภาครัฐ จึงมีบทบาทสำคัญต่อทุกภาคธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ....

        เมื่อสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดลคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้.... อาจพยากรณ์ในระยะยาวเพื่อที่จะประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด และโอกาสของสิ่งที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้....

        ทอมมี่ แอคชัวรี จัดได้ว่าเป็นแอคชัวรีระดับแนวหน้าคนหนึ่งของไทยก็ว่าได้ ปัจจุบันนอกจากหันมาทำธุรกิจส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์แล้ว ก็ยังควบตำแหน่งนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทยอีกด้วย

        แม้ตัวเองจะชอบคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยสอบตกวิชาคณิตศาสตร์เลย เมื่อเรียนอยู่ชั้น ม.4 ก็สอบตกวิชาคณิตศาสตร์มาแล้ว เพราะเป็นช่วงที่เริ่มขึ้นสู่มัธยมศึกษาตอนปลาย ยังจับจุดวิชาคณิตศาสตร์ไม่ถูก ไม่เข้าใจ ทำให้สอบตก

        อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เรียนอยู่ ม.1-3 นั้น ผลการเรียนก็ระดับปานกลาง เกรดเฉลี่ย 3 ต้นๆ เท่านั้น ไม่ได้เรียนเก่งมากมายอะไร แต่หลังจากที่สอบตกแล้ว ก็ใช้ความพยายามใหม่  ปรับวิธีการเรียนรู้และคิดใหม่ ทำให้ผลการเรียนออกมาดีขึ้น  ถึงได้รู้ว่าคณิตศาสตร์ ถ้าจับทางได้ถูกแล้วก็จะง่ายขึ้น

คณิตศาสตร์ ก็เปรียบเสมือนภาษาหนึ่ง คือถ้าคุณพูดภาษานั้นได้แล้ว ก็จะพูดได้ตลอด เช่น 1+1 = 2 ต้องเป็นข้อเท็จจริงอย่างนี้

ตัวเลขไม่หลอกเรา ถ้าคุณขยันและทำโจทย์เลขอย่างต่อเนื่อง คุณก็จะได้คำตอบนั้น แม้แต่ตอนนี้ผมก็ยังต้องฝึกฝนอยู่

อย่างเวลาที่นั่งรถติดๆ อยู่ ผมก็มองทะเบียนรถคันอื่น แล้วก็นึกออกมาให้เป็นภาษาอังกฤษ

ฝึกไปเรื่อยๆ ให้คล่อง เวลาพูดหรือใช้งานมันก็จะออกมาโดยอัตโนมัติ



        ความจริงแล้วคนที่จะเข้ามาสู่อาชีพแอคชัวรีได้นั้น ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ก็ได้ เพียงแต่ต้องมีความรู้เพียงพอด้านคณิตศาสตร์ เพื่อสอบให้ผ่านเกณฑ์การวัดระดับความรู้จากสมาคมวิชาชีพด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยตามมาตรฐานสากลให้ได้

        โดยตามมาตรฐานสากลแล้ว ทอมมี่แจงว่าคณิตศาสตร์ประกันภัยตามมาตรฐานสากลก็จะแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ ระดับแอสโซซิเอท (Associateship) และระดับเฟลโล (Fellowship) เป็นระดับสูงสุด ที่สามารถทำงานได้ทั่วโลก เช่น มาตรฐานของสหรัฐอเมริกามี 10 ขั้น หรือของอังกฤษ มี 9 ขั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ขั้น 1-5 เป็นขั้นที่ว่าด้วยวิชาพื้นฐานคณิตศาสตร์ทั่วไป พอมาถึงขั้นที่ 6-7 ก็จะเริ่มเข้าสู่วิชาชีพเฉพาะมากขึ้น เป็นระดับแอสโซซิเอท และพอสอบได้ครบทั้ง 9-10 ขั้นครบ ก็จะเป็นระดับเฟลโล

        เมื่อถามว่าต้องใช้เวลากี่ปีถึงสอบได้ครบหมดทั้ง 10 ขั้น ทอมมี่ บอกว่า เท่าที่เคยเห็นมาก็ใช้เวลาเร็วสุดประมาณ 5 ปี ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนให้ดี อย่างปัจจุบันก็มีนักเรียนชั้น ม.5 สอบผ่านได้ 2 ขั้นแล้ว สอบไปเทอมละ 1-2 ตัว พอเรียนจบ ป.ตรี ก็ได้ครบ 10 ตัวพอดี

        “แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างในไทยแต่ละปีถ้าเป็นระดับแอสโซซิเอทก็ทำได้ปีละ 10 กว่าคน และระดับเฟลโลทำได้ปีละ 3-4 คนเท่านั้น รวมๆ กันแล้ว ประเทศไทยก็ยังมีนักคณิตศาสตร์ทั้งระดับแอสโซซิเอทกับเฟลโลหลักร้อยคนเท่านั้น และทั่วโลก็ยังขาดแคลนแอคชัวรีอยู่มาก”

        อย่างตัวเขาเองนั้น สมัยที่เรียน ป.ตรี ก็เลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่จุฬาฯ จนจบออกมาทำงานเป็นวิศวกรได้ 1 ปี ถึงรู้ว่าตัวเองไม่ชอบงานด้านนี้ พอเห็นบริษัท เอไอเอ เปิดรับสมัครงานแอคชัวรี โดยไม่จำกัดว่าต้องจบด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยมาโดยตรงหรือมีคุณวุฒิอะไรมาก่อน ก็เลยไปสมัครและได้รับการคัดเลือกให้ทำงานกับเอไอเอ ตอนทำงานไปก็สอบเลื่อนขั้นไปเรื่อยๆ จนเกือบจะถึงระดับเฟลโลอยู่แล้ว ก็ต้องย้ายไปทำงานที่เอไอเอฮ่องกง

        “การสอบสมัยนั้นต้องบอกว่า อ่านหนังสืออย่างหนักทีเดียว กว่าจะสอบได้ในแต่ขั้น อย่างตอนทำงานอยู่ฮ่องกง การพูดภาษาอังกฤษเขายังไม่แข็งแรงพอ ใช้วิธีสื่อสารด้วยการเขียนกับหัวหน้าผ่านอีเมลเป็นหลัก พออยู่ไปได้ 4 เดือนก็เริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว ซึ่งก็ต้องขยันกว่าคนอื่นเป็นพิเศษ กว่าจะเลิกงานได้ก็ประมาณ 2 ทุ่ม กลับมาถึงบ้านก็อ่านหนังสืออีก 2-3 ชั่วโมง ถึงค่อยนอน”

        เวลาช่วงเสาร์-อาทิตย์ ทอมมี่ก็กำหนดเวลาเลยว่า นอน 8 ชั่วโมง อาบน้ำ 1 ชั่วโมง กินข้าว 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่งโมง รวม 3 ชั่วโมง ส่วนที่เหลืออีก 10-12 ชั่วโมง เอาไว้อ่านหนังสือเป็นหลัก และเล่นกีตาร์ ออกกำลังกายบ้าง ทำอยู่อย่างนี้จนในที่สุดก็สอบได้ระดับเฟลโล

        “รวมเวลาที่ทำงานอยู่กับเอไอเอมาทั้งหมดก็ 16 ปี กว่าจะออกมาตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง ในชื่อ ‘แอคชัวเรียลบิวซิเนส โซลูชั่น’ เพื่อให้บริการกับลูกค้าที่เป็นบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย และบริการคำนวณผลประโยชน์ของพนักงานตามมาตรฐานบัญชีใหม่”

        การที่ออกมาตั้งบริษัทเป็นของตัวเองนั้น ทำให้เขามีอิสระในการทำงานมากขึ้น สามารถให้ความรู้หรือแนวทางการเป็นแอคชัวรีได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันทอมมี่ก็ให้ความรู้หรือแนะนำเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊ก “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย - ทอมมี่ แอคชัวรี Actuary” อยู่แล้ว หรือบางครั้งก็มีการรวมตัวกันของผู้ปกครองหรือเยาวชนกลุ่มเล็กๆ เพื่อหาแนวทางแนะนำไปเรียนต่อออกมาเป็นแอคชัวรี และตัวเขาเองก็ยังสอนระดับปริญญาโทอีกด้วย

        “ปัจจุบันอาชีพแอคชัวรีนี้ก็เปิดกว้างมาก ไม่ใช่แค่จำกัดอยู่ในแวดวงธุรกิจประกันภัยเท่านั้น อย่างแอคชัวรีของออสเตรเลียกว่า 50% ก็อยู่นอกธุรกิจประกันภัย เช่น ทำงานเกี่ยวกับกองทุนรวม การบริหารจัดการความเสี่ยง หรือดูโครงการต่างๆ ของรัฐบาล หรืออย่างที่อังกฤษ รัฐบาลเขาก็มีหน่วยงานกลางด้านแอคชัวรีประมาณ 200 คน มีหน้าที่คอยให้หน่วยงานอื่นๆ มายืมตัวไปร่วมทำงานด้วย เพราะแอคชัวรีถูกสอนให้มองระยะยาวมากที่สุด เป็นเหมือนต้นหนของทุกอาชีพ เพื่อทำแบบจำลองสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับประเทศอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะได้วางแผนได้ถูก ซึ่งไทยเองก็ยังขาดแอคชัวรีที่มาทำงานด้านอื่นอยู่อีกมาก เพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ในธุรกิจประกันภัย ซึ่งปัจจุบันก็ยังขาดแคลนอยู่”

        การทำงานที่ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ ทอมมี่บอกว่าจะถือคติในการทำงานที่ว่าต้องมีความมุ่งมั่น มีวินัย และสิ่งสำคัญต้องรักในอาชีพที่ตัวเองทำอยู่

        “การที่เราจะฝึกฝนตัวเองให้เก่งเฉพาะด้านได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องมีการเรียน หรือการทำงานเป็นมืออาชีพทางด้านใดด้านหนึ่งนั้น ก็ต้องอาศัยความมุ่งมั่นเป็นแรงขับเคลื่อน หากไม่มีความมุ่งมั่นมากพอก็มักจะล้มเหลวกลางคัน ซึ่งนอกจากความมุ่งมั่นแล้ว การมีวินัยก็เป็นส่วนสำคัญอีกด้วย อย่างเช่นถ้าต้องสอบก็ควรกำหนดเวลาที่จะอ่านหนังสือต่อวัน ต้องทำให้ได้ อย่ามัวแต่ผัดวันประกันพรุ่ง เลื่อนวันไปเรื่อยๆ และเมื่อมาทำงานแล้ว สิ่งสำคัญสุดที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จในอาชีพการทำงาน ก็คือการที่มีใจรักในอาชีพนี้ ทำให้รู้สึกว่างานที่ทำให้ทุกวันเหมือนไม่ใช่งาน แต่คือ ความสนุก ความท้าทายในชีวิต”


"การที่ตัวเองได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าให้กับสังคมในขอบเขตที่สามารถทำได้ ก็ย่อมนำมาซึ่งความภูมิใจและความสุขในการทำงาน มีคุณค่าในตัวเอง"

ที่มา : Posttoday



โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) มือหนึ่งด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons) 
ผู้เขียนหนังสือขายดี The Top Job Secret ภาค 2 และที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน



Like Share

บทความอื่น