ระหว่างที่ทุกประเทศเข้าสู่โหมด Lockdown หลายสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจทั่วโลกต่างเผชิญโจทย์ยากต่อการประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด และผลกระทบจะลากยาวแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่ประเมินเหมือนกันคือ โควิดจะเป็นบททดสอบผู้กำหนดนโยบายระดับประเทศที่จะควบคุมด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยหรือลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากการชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทว่า ธุรกิจประกันภัย จะเป็นกันชนหรือเครื่องมือทางเงินพื้นฐานในการบริหารความเสี่ยงสำหรับครัวเรือน!
“ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ อาจารย์ “พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน หรือ อาจารย์ทอมมี่” นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ซึ่งสะท้อนความเห็นถึงภาพรวมธุรกิจประกันภัยว่า ขึ้นอยู่กับบริษัทจะจับจังหวะบวกได้แค่ไหนและสามารถป้องกันปัจจัยลบได้เพียงไร โดยระบุถึง 3 ปัจจัยบวกของทั้งธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ได้แก่ โรคโควิดที่แพร่ระบาดสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนสนใจ ประกอบกับการเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งบลูมเบิร์ก ประเมินว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุไทยที่มีอายุเกิน 60 ปี วิ่งเข้าสู่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งในอีก 15 ปีข้างหน้า(ปี2575) ประชากรไทย 1 ใน 4 หรือจำนวน 25 คนจาก 100 คนจะมีอายุเกิน 60 ปี และเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่จะแพงมากขึ้นจนควักเงินจ่ายเองไม่ไหว เพราะจากสถิติของไทยนั้น ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% ต่อปี เช่น ถ้าเป็นไข้หวัด 1 ครั้ง สมมติค่าต้นทุนค่ารักษาพยาบาลคือราคา 1,500 บาท ในตอนนี้ แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าต้นทุนค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มเป็น 3,000 บาท เป็นต้น
“ปีนี้โควิดเป็นปัจจัยเสริม มีทั้งปัจจัยบวกและลบ ในเชิงบวกคือ ความตื่นตัวของลูกค้าซื้อประกัน แต่ปัจจัยลบก็มี เพราะธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่รับเบี้ยเข้ามาก่อน จึงมีความเสี่ยงโดยตรงหลายมิติ เช่น โรคระบาดไม่ได้ใช้สถิติจำลองอนาคตอีกต่อไป แต่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกมากซึ่งจะเกิดข้อพิพาทขึ้น ว่าคุ้มครองหรือไม่คุ้มครอง รวมถึงค่ายาหรืออัตราการตาย โดยเฉพาะบริษัทที่คุ้มครองถึง 12 เดือน ทั้งวิวัฒนาการของโควิดและทางการแพทย์ซึ่งวิ่งตลอดเวลา เหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ต้องเตรียมเงินหน้าตักและประเมินกรณีเลวร้ายที่สุด เพื่อบริหารจัดการการจ่ายเคลมซึ่งต้องวางแผน Stop Loss ให้ได้ แถมยังมีผลกระทบทั้งจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดเป็นขาลงอีกด้วย ขณะเดียวกันธุรกิจวินาศภัยปีนี้มีแนวโน้มเติบโตในแง่เบี้ยประกันจากโควิด และยังได้ปัจจัยบวกจากโซเชียลดิสเท็นต์ หรือ WFH เพราะ ยอดเคลมสินไหมรถยนต์น้อย”
ด้านปัจจัยลบอันดับแรก คือ เงินลงทุน เพราะทั้งธุรกิจวินาศภัยและประกันชีวิตรับเงินมาก่อนแล้วต้องใช้เงินทำงานโดยเฉพาะธุรกิจประกันชีวิตต้องสำรองเงินเพื่อจ่ายคืนผู้บริโภคในอนาคต ส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตร หรือหุ้นกู้ ซึ่งรวมเงินหมุนเวียนลงทุนราว 2.5 ล้านล้านบาท เพราะทุกวันนี้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรได้ปรับลดลงอย่างมาก ซึ่งเหลือแค่ประมาณ 1.1-1.2% และหากย้อนไปเมื่อ 20 ปี 10 ปี 5 ปีและ 3 ปีจะอยู่ที่ 10% 5% และ 3% ตามลำดับ โดยเงินหมุนเวียนประมาณ 2.5 ล้านล้านบาทที่ลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้คิดเป็น 80-90% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่บริษัทประกันมี ทำให้ต้องจับคู่ระหว่างเงินลงทุนในสินทรัพย์และหนี้สิน การบันทึกรายได้ต้องกระจายตามสัญญารับประกันที่มีผลคุ้มครองจำแนกตามมาตรฐานบัญชี จึงเป็นทิศทางของประกันสะสมทรัพย์ให้เข้าสู่การทำตลาดประกันควบการลงทุนหรือยูนิตลิ้งค์ซึ่งเป็นการปลดล็อคศักยภาพให้บริษัทประกันลงทุนนอกเหนือจากพันธบัตร แต่ยังเป็นเงินลงทุนของลูกค้า(เลือกลงทุนและรับความเสี่ยงเอง) เน้นวัตถุประสงค์การซื้อเพื่อความมั่นคง (ไม่ใช่ความมั่งคั่ง) โดยบริษัทประกันทำหน้าที่ให้คุ้มครองตามเหตุปัจจัยที่ตกลงไว้ในสัญญา ประกอบกับ กฎระเบียบข้อบังคับความมั่นคงทางการเงินที่ปีนี้มีการปรับสูตรการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง(RBC) เพื่อยกระดับมาตรฐานสากล
อาจารย์ทอมมี่ ระบุว่า โจทย์หลักของนักคณิตศาสตร์ต่อมุมมองโควิด คือ การสื่อสารกับบริษัทประกันเตรียมความพร้อมเงินกองทุนและเงินสำหรับจ่ายคืนลูกค้า ขณะเดียวกันต้องคิดเผื่อปัจจัยวิวัฒนาการทั้งการระบาดของโควิด วิวัฒนาการด้านยา หรือทางการแพทย์ ทั้งหมดนี้ต้องทำโมเดลแตกต่างจากแบบจำลองทั่วไป ถึงวันนี้ลูกค้ายังไม่มีการเคลมมากนัก แต่หากต่อไปเกิดข้อพิพาทจะต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคต้องเชื่อมโยงเงื่อนไขเป็นตัวเลข
ส่วนหน้าที่ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย คือ ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งคุ้มครองความเสี่ยงและเคลมง่ายเวลาเกิดเหตุไม่คาดฝัน และต้องป้องกันการหาประโยชน์เก็งกำไรจากกรมธรรม์เวลาออกแบบประกัน ต้องป้องกันคนที่จะเข้ามาทุจริตเคลม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์เต็มๆ เพราะหากปล่อยให้คนไม่ควรจะเคลมเข้ามาเคลมสินไหม จะทำให้ค่าเบี้ยเฉลี่ยโดยรวมแพงขึ้น ซึ่งการดีไซน์แบบประกันและกระบวนการต้องไม่เอื้อต่อการทุจริตเคลม เช่น ประกันเจอปุ๊ปจ่ายปั๊บต้องตีเงื่อนไขเป็นตัวเลข ในทางปฎิบัติต้องมองภาพและป้องกันการทุจริตเคลม