ใครว่าบริษัทประกันเป็นเสือนอนกิน

1 ตุลาคม 2561

ใครว่าบริษัทประกันเป็นเสือนอนกิน


หลายคนในที่นี้คงเคยได้ยินคำว่าเสือนอนกินกันอยู่บ้าง และก็มีไม่น้อยที่คิดว่าบริษัทประกันนั้นขายแค่กระดาษและก็คอยเป็นเสือนอนกิน เพราะเก็บเบี้ยประกันภัยเข้ามาก่อน แต่เวลาจ่ายเคลมนั้น ดูเหมือนจะเข้มงวดกันเสียเหลือเกิน อย่างนี้บริษัทประกันภัยคงต้องมีกำไรมหาศาลเลยแน่ๆ

จะเป็นจริงหรือไม่นั้น เราค่อยๆ มาดูกันดีกว่าครับ ว่าที่มาที่ไปของกำไรที่ว่านั้นมันมาอย่างไร

ก่อนอื่นก็คงต้องเริ่มจากเบี้ยประกันภัยที่รับเข้ามาก่อน เพราะนี่ถือว่าเป็นรายรับของบริษัทอยู่แล้ว และเมื่อได้รับเบี้ยประกันเข้ามาแล้ว บริษัทก็จะนำเงินก้อนนี้มาลงทุนให้เกิดดอกออกผล เพราะคงจะไม่มีใครที่เอาเงินมาแล้วเก็บใส่ไว้ในตุ่มเฉยๆ แต่การลงทุนของบริษัทประกันภัยนั้น จะต้องลงทุนแบบมีเหตุมีผล แบบว่าไม่เสี่ยงจนเกินไปและก็ไม่น้อยจนเกินไป โดยบริษัทจะต้องเจียมเนื้อเจียมตัว และพึงสังวรณ์อยู่เสมอว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่นำมาลงทุนอยู่นั้น คือเงินของผู้เอาประกันภัยที่หวังจะได้รับความคุ้มครองจากการสูญเสียทางการเงิน (financial loss) บางอย่างขึ้นในอนาคต




แน่นอนว่าในสินค้าใดๆ ก็ตาม เมื่อมีการขายเกิดขึ้นแล้ว บริษัทต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นหรือค่าบำเหน็จให้กับฝ่ายขายที่ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนหรือโบรกเกอร์ต่างๆ ซึ่งก็ต้องไม่ลืมว่าบริษัทประกันจะต้องหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทออกไปอีกด้วย ส่วนที่เหลือหลังจากนั้นก็ต้องมาดูกันว่า เคลมหรือค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้กับผู้รับประกันภัยนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพอถึงตรงนี้แล้วก็คงจะต้องอาศัยสถิติและข้อมูลล้วนๆ ในการประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าตามหลักการของคณิตศาสตร์ประกันภัย

 

ยอดขายหรือเบี้ยประกันภัย คอมมิชชั่นหรือค่าบำเหน็จให้กับฝ่ายขาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัท ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้กับผู้รับประกันภัย = ส่วนที่เหลือที่เป็นรายได้ของบริษัท

 

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ "ธุรกิจประกันภัย" นั้น ได้รับเงินมาก่อน แล้วจึงค่อยมีต้นทุนของสินค้าตามออกมาทีหลัง” ซึ่งก็คงต้องเดากันล่ะว่าต้นทุนของสินค้าในแต่ละตัวนั้นจะเป็นเท่าไร ถ้าเดาถูกก็ดีไป แต่ถ้าเดาไม่ถูกแล้วล่ะก็บริษัทก็ขาดทุนไป แล้วถ้าลองมาคิดดูดีๆ แล้วล่ะก็ ต้นทุนสินค้าของบริษัทประกันภัยนั้นจะขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่าง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสำหรับการประกันชีวิต เช่น อายุ เพศ อาชีพการงาน งานอดิเรก สุขภาพ โรคประจำตัว และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าหรือการเคลมของกลุ่มคนแต่ละกลุ่มนั้นมีค่าต่างกัน ส่วนตัวอย่างของการประกันวินาศภัย ก็ได้แก่การประกันตัวรถยนต์ที่ต้องพิจารณาตั้งแต่อายุการใช้งาน ยี่ห้อ ประเภท หรือความแรงของเครื่องยนต์ เป็นต้น


ดังนั้น สิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับบริษัทประกันภัยในเวลาที่ต้องกำหนดราคาสินค้าเลยก็คือ การแบ่งกลุ่มประเภทของผู้เอาประกันภัยตามความเสี่ยง ถ้าเสี่ยงมาก ก็ควรจะเก็บเบี้ยประกันภัยมาก ถ้าเสี่ยงน้อย ก็ควรจะเก็บเบี้ยน้อย

 



แต่แล้วก็มีคนถามคำถามเกี่ยวกับการซื้อประกันชีวิตขึ้นมาอีกว่า ถ้าเก็บเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยให้เท่ากันให้หมดไปเลย  (คนจะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยก็เก็บเบี้ยในราคาเท่ากัน) จะไม่ดีกว่าเหรอ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาในการตรวจสุขภาพ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง ก็คงจะไม่ได้หรอกครับ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว คนที่เสี่ยงน้อยก็จะยิ่งเสียเปรียบ กลายเป็นว่าพวกเขาเหล่านั้นจะไม่มาทำประกันภัย แล้วก็จะเหลือแต่คนที่มีความเสี่ยงมากมาซื้อประกันเท่านั้น ทำให้ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจริงๆ นั้นเกิดขึ้นสูงกว่าต้นทุนที่ควรจะเป็น จนทำให้บริษัทประกันขาดทุนและอาจจะต้องขอปรับราคาเบี้ยประกันตามมา

เห็นไหมครับว่าก่อนที่บริษัทประกันภัยจะทำอะไรนั้น  จะต้องมีการคิดไว้ล่วงหน้าเสมอ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้กำไรเสมอไปเหมือนกัน แค่ได้กำไรพอประมาณที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่บริษัทต้องรับผิดชอบไว้ก็พอแล้ว ถ้าไม่เชื่อก็สามารถถาม นักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือแอคชัวรี กันดูได้ครับ



โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) มือหนึ่งด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons) 
ผู้เขียนหนังสือขายดี The Top Job Secret ภาค 2 และที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน