5 จุดบอดประกันโควิด ที่อาจทำให้บริษัทประกันเสี่ยงขาดทุน

6 เมษายน 2563

5 จุดบอดประกันโควิด ที่อาจทำให้บริษัทประกันเสี่ยงขาดทุน

จุดขาดทุนที่ 1 (บทเรียนจากน้ำท่วม VS นโยบายภาครัฐ) 
บทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เป็นเหตุการณ์ที่พิสูจน์ให้รู้ว่าปัจจัยภายนอกจากการจัดการบริหารนั้น ไม่สามารถใช้สถิติมาจับได้ ตัวอย่างสมมุติสำหรับเคสโควิดเลย เช่น มีการ lockdown กันช้าเกินไป หรือมีกลุ่มคนต่อต้านการกักตัวเองขึ้นมา จึงมีการติดเชื้อกันมากเหมือนอิตาลี เป็นต้น โดยเหตุต่าง ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ จึงอยากจะให้มองในมุมที่ว่า โอกาสในการติดเชื้อนั้นอาจจะเป็นได้ตั้งแต่ 1% ไปจนถึง 80% ในชั่วข้ามคืน จากนโยบายการจัดการได้ทุกเมื่อ
ต้นทุนการเคลมของแบบประกันตัวนี้ จึงไปผูกติดกับประสิทธิภาพการจัดการของภาครัฐและภาคเอกชน หากไม่สามารถจัดการควบคุมการติดต่อของโรคระบาดกันได้ดีพอเสียมากกว่า ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าที่ประกันโควิด-19 ยังคุ้มครองอยู่ อาจจะมีคนไทยติดเชื้อทั้งหมดกันแค่ไม่เกิน 2 หมื่นคน หรืออาจจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 10 ล้านคนก็ได้ หากไม่สามารถจัดการควบคุมการติดต่อของโรคระบาดได้ดีพอ

จุดขาดทุนที่ 2 (เจอปุ๊บจ่ายปั๊บ VS ในวันที่โควิด-19 กลายเป็นแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา)
สมมุติถ้ามีการคิดค้นยาที่รักษาไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นสำเร็จ ไวรัสชนิดนี้จึงเป็นเพียงแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา จึงไม่มีใครกลัวไวรัสนี้อีกต่อไป ถึงจุดนั้นกลุ่มคนที่ซื้อประกันชนิดที่คุ้มครองแบบที่เจอปุ๊บจ่ายปั๊บก็คงดีใจกันมาก หากติดเชื้อไปก็ไม่เป็นไร โดยเฉพาะคนที่กักตุนซื้อหลาย ๆ กรมธรรม์เอาไว้ หากไม่จงใจให้ไปติด แต่ก็จะไม่ระวังตัวอีกต่อไป จุดนี้ที่บริษัทประกันลืมคิดถึงการ over insure ของลูกค้าไปตั้งแต่ตอนพิจารณารับประกันภัย และคิดว่าอย่างไรลูกค้าควรระวังตัวเองไม่ให้ติดเชื้ออยู่แล้ว สรุปว่าถ้าลูกค้าทำหลาย ๆ กรมธรรม์พร้อมกัน ประกอบกับความรุนแรงของโควิค-19 มันหายไปเมื่อไร จะเป็นเหตุการณ์ที่บริษัทประกันจะขาดทุนจำนวนมาก


จุดขาดทุนที่ 3 (เงินชดเชยต่อวันได้เงินมากกว่าค่าจ้างรายวัน)
ประกันโควิด-19 บางแบบจะจ่ายค่าชดเชยรายได้ที่เกิดจากการสูญเสียรายได้ในชีวิตประจำวันไปเมื่อนอนโรงพยายาลให้ด้วย หากลองนึกภาพของวิกฤตเศรษฐกิจที่มีการตกงานกันมาก รายได้ประจำวันลดลงจากเดิมไปมาก หากเกิดติดเชื้อขึ้นมา การเข้าโรงพยาบาลแต่ละครั้งจึงอยากจะอยู่ให้นานที่สุด จากที่ปกติอยู่แค่ 10 วัน ก็อาจจะยืดขึ้นไปเป็น 15 วัน เพราะค่าชดเชยจากประกันมีมากกว่ารายได้ปกติ จุดนี้เป็นจุดที่บริษัทประกันอาจจะลืมมองไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพวกที่ over insure ยิ่งซื้อประกันโควิด-19 กันหลายฉบับ ก็ยิ่งได้รับค่าชดเชยรายได้ต่อวันที่สูงมาก เหตุการณ์ขาดทุนอย่างนี้เกิดได้บ่อยถ้าบริษัทประกันรีบขายจนเกินไป และไม่ได้พิจารณาการรับประกันภัยให้ดีก่อน

จุดขาดทุนที่ 4 (เบี้ยทุกอายุเฉลี่ยแต่ต้นทุนไม่เฉลี่ย)
เบี้ยประกันภัยเฉลี่ยเท่ากันทุกช่วงอายุ ความจริงแล้วปัจจัยต้นทุนของการเคลมจะดูที่ “อัตราการติดเชื้อ” กับ “ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อ” ซึ่งทั้งสองปัจจัยจะแตกต่างกันตามแต่ละช่วงอายุ ดังนั้น บริษัทประกันภัยที่คุ้มครองผู้สูงอายุที่สูงกว่า 70 ปี โดยที่คิดเบี้ยประกันเท่ากันทุกช่วงอายุนั้น จะถือว่าเสี่ยงกว่าบริษัทอื่นมาก โดยเฉพาะบางแห่งที่ขายประกันโควิด-19 ให้กับทุกอายุแต่คิดเบี้ยประกันของผู้สูงอายุเท่ากับอายุอื่น ๆ โดยตั้งสมมุติฐานว่าทุกอายุจะเข้ามาซื้อประกันในสัดส่วนพอ ๆ กัน แต่สุดท้ายคนที่ซื้อประกันโควิด-19 ส่วนมากก็คือคนสูงอายุ และเมื่อต้นทุนของผู้สูงอายุเยอะกว่า ก็จะทำให้บริษัทประกันมีโอกาสขาดทุนได้ และบริษัทประกันอาจจะเจอกับปัญหานี้อยู่ เพราะไปตั้งเป็นเบี้ยเฉลี่ยเท่ากันหมด

จุดขาดทุนที่ 5 (สถิติเสียชีวิตจากโรคระบาดใหญ่ในทุก 100 ปี กับวิวัฒนาการของไวรัส)
จากสถิติที่อ้างอิงประวัติศาสตร์ในทุก 100 ปี จะมีการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัส 1 ครั้ง ที่จะทำให้ทุกคนทั้งโลกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งครั้งล่าสุดคือ ไข้หวัดสเปน ปี ค.ศ. 1918 (เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้วพอดี) โดยในตอนนั้นผู้คนเสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน ไวรัสได้มีการวิวัฒนาการและแบ่งออกเป็นระลอกคลื่น เช่น คลื่นลูกที่หนึ่ง สามารถติดต่อกันง่ายดายไม่เป็นอันตรายถึงตาย หรืออัตราการตายจะไม่สูง แต่พอเปลี่ยนเป็นคลื่นลูกที่สอง ความรุนแรงสูงขึ้นจนสามารถทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก แต่คนที่มีภูมิคุ้มกันจากคลื่นลูกแรกนั้นกลับจะมีโอกาสติดเชื้อได้น้อยกว่า และคลื่นลูกที่สาม ที่ไวรัสสามารถกลายพันธุ์ไปติดเด็กได้ง่ายขึ้นและทำให้คนตายมากขึ้น

ซึ่งตอนนี้เราอาจจะอยู่กันเพียงแค่คลื่นลูกที่หนึ่งเองก็ได้ และไวรัสกำลังซุ่มเงียบเพื่อแอบกลายพันธุ์อยู่ พร้อมรอที่จะเป็นคลื่นลูกที่สองและสามในไม่ช้า (ซึ่งก็ได้แต่ภาวนาขออย่าให้เป็นแบบนั้นเลย)


นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย 
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน 
และผู้แต่งหนังสือ 
  • The Top job Secret ภาค 1 - อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก 
  • The Top job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)



บทความที่เกี่ยวข้อง