ความจำเป็นที่ต้องสำรอง การโดนเบี้ยวหนี้ TFRS9 ในยุคโควิด

15 พฤษภาคม 2563

ความจำเป็นที่ต้องสำรอง การโดนเบี้ยวหนี้ TFRS9 ในยุคโควิด

หลายคงเคยได้อ่านข่าวเกี่ยวกับมาตรฐานรายงานทางการเงิน TFRS9 และเกิดความเข้าใจว่ามีผลกระทบกับพวกสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว เพราะคุ้นเคยแต่กับคำว่า NPL (nonperforming loan) หรือหนี้เน่าเท่านั้น ซึ่งปกติก็ต้องคำนวณการตั้งสำรองเผื่อหนี้เน่าพวกนี้อย่างจริงจัง
ผมจึงอยากเขียนในมุมของผลกระทบกับกิจการอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินบ้าง ซึ่งมาตรฐานบัญชีตัวนี้บังคับใช้กับทุกกิจการที่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ (PAEs : publicly accountable entities) แปลว่า บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหมดรวมถึงบริษัทในเครือก็ต้องคำนวณด้วยเช่นกัน

TFRS9 สำคัญแค่ไหนกับบริษัททั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ฯ
มาตรฐานบัญชี TFRS9 นี้สำคัญกับทุกกิจการเพราะเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการประเมินเครื่องมือทางการเงินที่บริษัทถือเอาไว้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งสำรองการขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (หรือจะเรียกว่า “สำรองการโดนเบี้ยวหนี้” ก็ว่าได้) หมายความว่า สิ่งใดก็ตามที่บริษัทมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ บริษัทจะต้องตั้งสำรองเผื่อการโดนเบี้ยวหนี้เอาไว้ด้วย
เพราะเมื่อไหร่ที่บริษัทเป็นเจ้าหนี้ บริษัทก็จะมีการรับรู้รายได้ไว้ล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับเงินสดจริง ๆ และถ้าไม่ได้ตั้งสำรองข้อนี้เอาไว้ให้เหมาะสม ก็แปลว่าบริษัทรับรู้รายได้เกินความเป็นจริงไป
สรุปคือ “อะไรก็ตามที่รับรู้เป็นรายได้มาก่อนแล้วค่อยไปมีการสูญเสียในทีหลัง ก็ควรจะต้องตั้งเป็นเงินสำรองไว้ตอนนี้”

จะดูได้อย่างไรว่าบริษัทมีสถานะเป็นเจ้าหนี้
การเป็นเจ้าหนี้ แปลว่า เจ้าหนี้จะมีการระบุจำนวนเงินที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเป็นจำนวนเท่าไรไว้อย่างชัดเจน มีระบุวันครบกำหนดชำระ (due date) ว่าต้องจ่ายเมื่อไร ซึ่งปกติทางบัญชีแล้วบริษัทจะรับรู้ว่าเป็นรายได้ไปก่อนเรียบร้อยแล้ว แต่จะได้เงินสดจริงหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทวงเงินสดกันไป
เพราะเมื่อครบกำหนดชำระไประยะเวลาหนึ่ง เราก็ต้องมาดูกันว่าสรุปแล้วจะทวงหนี้รายนี้ได้หรือไม่ หากทวงได้ให้ถือว่ายังไม่โดนเบี้ยวหนี้ แต่ถ้าทวงไม่ได้มันก็กลายเป็นหนี้เน่าที่ทวงไม่ได้



บริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินต้องพิจารณาถึงเครื่องมือทางการเงินอะไรบ้าง
ไม่ว่าจะประกอบกิจการอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือ “ลูกหนี้การค้า” ที่ปกติแล้วบริษัทจะมีการออกใบแจ้งหนี้และมีวันครบกำหนดชำระให้กับลูกค้า ถึงแม้ว่าประวัติของลูกค้าทุกคนจะไม่เคยเบี้ยวหนี้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีโอกาสเบี้ยวหนี้ ถ้าสภาวะเศรษฐกิจหรือปัจจัยภายนอกเกิดความผันผวนขึ้นมา จึงอาจเกิดเหตุการณ์ที่ลูกค้าจะเบี้ยวหนี้ได้ เครื่องมือทางการเงิน TFRS9 อื่น ๆ ที่คล้าย ๆ กับลูกหนี้การค้า ก็จะมีเงินทดรองจ่าย เงินประกันผลงาน เงินที่รับรู้รายได้ล่วงหน้าตามความคืบหน้าของผลงาน เป็นต้น
กลุ่มที่สอง คือ พวกเงินที่ให้กู้ยืมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่บริษัทไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซื้อพันธบัตรเอกสาร ซื้อหุ้นกู้ หรือซื้อตั๋วเงิน รวมไปถึงการให้เงินกู้ยืมระหว่างบริษัท เป็นต้น

หลักการของการตั้งสำรอง TFRS9
บริษัทจะต้องเก็บสถิติการชำระหนี้ของลูกค้าย้อนหลังมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งควรจะได้อย่างน้อย 36 เดือนย้อนหลัง มาเพื่อติดตามข้อมูลย้อนหลังว่าลูกหนี้แต่ละสัญญามีพฤติกรรมอย่างไร เริ่มทยอยจ่ายเงินในช่วงไหน และนำมาปรับแต่งทางสถิติและจัดกลุ่มลูกหนี้เพื่อที่จะให้ได้ชุดข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุด จากนั้นก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพลอตทำสถิติเพื่อที่จะประเมินอนาคตไปข้างหน้าว่าแต่ละกลุ่มมีโอกาสเบี้ยวหนี้เท่าไร เรียกว่า default rate (ความน่าจะเป็นในการโดนเบี้ยวหนี้) และนำมาหาพฤติกรรมในการทวงหนี้ได้คืน จนได้สิ่งที่เรียกว่า recovery rate (ความน่าจะเป็นในการทวงหนี้ได้คืน) แล้วค่อยนำมาตั้งเป็นสมมุติฐานในการคำนวณขึ้น
สมมุติฐานที่ตั้งขึ้นมานั้นต้องนึกอยู่เสมอว่า อดีตไม่ได้เป็นตัวจำลองอนาคตเสมอไป จึงต้องนำปัจจัยภายนอกมาพิจารณาด้วย ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน หรือการเปลี่ยนแปลงของ GDP ก็มีสิทธิทำให้พฤติกรรมของลูกหนี้เปลี่ยนไปได้ในมาตรฐานเรียกว่า forward looking view

สรุปคือ การตั้งสำรองการโดนเบี้ยวหนี้จาก TFRS9 นั้น เป็นการนำสถิติในอดีตมาจำลองอนาคตถึงความเป็นไปได้ที่จะโดนเบี้ยวหนี้ในกิจกรรมอะไรก็ตามที่บริษัทมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ เพื่อให้งบการเงินมีความเหมาะสมและสะท้อนภาพความเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยุคเศรษฐกิจที่เป็นทั้งขาลงและยังผันผวนอีกด้วยครับ



นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน
และผู้แต่งหนังสือ 
  • The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  • The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)




Like Share

บทความอื่น