ปฏิรูปประกันสังคมสู่ไทยแลนด์ 4.0

28 กันยายน 2561

ปฏิรูปประกันสังคมสู่ไทยแลนด์ 4.0

ในช่วงแรกที่มีการก่อตั้งกองทุนประกันสังคมนั้น มีนโยบายไว้อยู่ว่าจะเก็บเงินเข้ากองทุนไม่มากนัก เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เหลือไว้ใช้จ่าย จะได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังเร่งพัฒนาไปในตัว แต่ปัจจุบันมูลค่าการจ่ายบำนาญเพิ่มขึ้นมาได้ประมาณ 2 - 3 ปีแล้ว และกำลังจะเป็นไปอย่างก้าวกระโดด เพราะการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บวกกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็แพงขึ้น อายุยืนขึ้น และอัตราการเกิดน้อยลง


จากการที่ต้องดูแลผู้สูงอายุในวัยเกษียณที่เพิ่มเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้ต้องมีการสำรองเงินเพิ่มมากขึ้น  และเพื่อการสร้างสมดุลของระบบการออมที่เหมาะสม จึงควรมีการปฏิรูปการออมเงิน โดยเฉพาะของกรณีบำนาญชราภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวทางการพัฒนาประเทศ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และอนาคตของคนในยุคปัจจุบันรวมไปถึงคนรุ่นหลัง

สาเหตุ ที่ตอนนี้การจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ

         1) จำนวนของคนเกษียณอายุมีมากขึ้น

         2) การจ่ายเงินบำนาญต่อคนสูงขึ้น เนื่องจากคนมีอายุยืนขึ้น


ขยายอายุเกษียณ

ดังนั้น การปฏิรูประบบบำนาญชราภาพทำได้หลายด้าน ยกตัวอย่าง เช่น ขยายอายุเกษียณให้มากขึ้นจาก 55 ปี เป็น 60 ปี หรือ มากไปกว่านั้นในอนาคต อายุการเกษียณทั่วโลก มีอัตราค่าเฉลี่ยที่แตกต่างกันออกไป แต่จะเห็นว่าอายุเกษียณของประเทศไทย แทบจะต่ำที่สุดในโลก หากมองไปทีประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างมาเลเซีย เวียดนาม ได้มีการขยายอายุเกษียณใหม่ไปถึงอายุ 60 ปี ไปแล้ว ส่วนประเทศญี่ปุ่นหรืออังกฤษนั้นจะเห็นว่าอายุเกษียณได้ปรับไปถึง 68 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ปรับฐานเพดานเงินเดือนในการคำนวณเงินสมทบให้สูงขึ้น เช่น จาก 15,000บาท เป็น 20,000 บาท เพดานฐานค่าจ้างของประกันสังคมไม่เคยเปลี่ยนแปลง สูงสุดยังคงอยู่ที่ 15,000 บาท (หมายความว่าถ้าเงินเดือนสูงกว่านี้ ก็สามารถจ่ายเงินสมทบได้แค่เท่ากับคนที่มีเงินเดือน 15,000 บาทเท่านั้น)  ซึ่งใช้มานาน 25 ปีแล้ว และด้วยรายได้เฉลี่ยของประชากรที่สูงขึ้น  ตอนนี้มีผู้ประกันตนประมาณ 30% แล้วที่เงินเดือนสูงกว่า 15,000 บาท  ทำให้ผู้ประกันตนกลุ่มนี้เสียโอกาสในการออมเงินเพิ่ม  เพิ่มอัตราเงินสมทบตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม 


รองรับวัยเกษียณเพื่อเข้าสู่ยุค 4.0


เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา จะเห็นว่าอัตราเงินสมทบของประเทศไทยต่ำมากๆ ทำให้ได้บำนาญน้อย และจากการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)  ได้พบว่าเราควรจะต้องมีการส่งเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 15 % ของเงินเดือน  หากประเทศไทยไม่เก็บเงินสมทบเพิ่ม  บำนาญที่จะได้รับอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในอนาคต

หากไม่มีการปฏิรูป ผู้ประกันตนรุ่นปัจจุบันที่ออมเงินไม่มากพอ  ในอนาคตอาจต้องถูกเก็บเงินสมทบ หรือต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพื่อให้รองรับกับการจ่ายเงินบำนาญในอนาคตครับ

ในระยะยาวอัตราเงินสมทบในส่วนของบำนาญจากนายจ้างและลูกจ้างรวมกันก็จะต้องอยู่ระหว่าง 15%-25% เหมือนประเทศที่มีโครงสร้างประชากรใกล้เคียงกับไทย โดยควรจะเริ่มขึ้นกับผู้ประกันตนรุ่นปัจจุบัน

 ถึงเวลาต้องเปลี่ยนเงินบำนาญของกองทุนประกันสังคม


สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ ถึงเวลาแล้วครับที่ต้องปฏิรูป  “เงินบำนาญของกองทุนประกันสังคม”  ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่นับวันก็แพงขึ้น รวมถึงอายุคนเราที่ยืนยาวขึ้นอีก ซึ่งนั่นก็แปลว่าเงินบำนาญในอนาคตก็ควรต้องมีมากขึ้นเป็นทวีคูณเพื่อให้แต่ละคนมีเงินเพียงพอในยามเกษียณ

 อีกสาเหตุหนึ่งคือ กองทุนประกันสังคมได้จัดตั้งมานานแล้ว และกำลังจะเข้าสู่ยุคสมัยที่จะทยอยจ่ายเงินบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด การปฏิรูปจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่ปฏิรูปเสียแต่วันนี้ มันจะกลายเป็นการผลักภาระทางสังคมของเราไปสู่คนรุ่นหลังโดยไม่จำเป็น



 



"ในส่วนตัวผมนั้น ผมว่าการปฏิรูปที่ว่านี้จะสำเร็จได้ด้วยดีนั้นคงต้องเริ่มที่การสร้างจิตสำนึกที่ดีของทุกคน และค่อยเป็นค่อยไปในทิศทางที่เหมาะสมครับ"



โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) มือหนึ่งด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons) 
ผู้เขียนหนังสือขายดี The Top Job Secret ภาค 2 และที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน



Like Share

บทความอื่น