ยิ่งใส่มาก...ยิ่งได้มาก

4 ตุลาคม 2561

“ถ้าส่งเงินสมทบมากขึ้น แล้วตอนแก่จะได้เงินมากขึ้นด้วยใช่ไหม ?

 

ผมได้สืบรู้มาว่า ในอดีตเงินสมทบที่ผู้ประกันตนได้จ่ายทุกเดือนนั้น มีจำนวนไม่มาก เพราะยังไม่มีการจ่าย สิทธิประโยชน์บำนาญ จึงไม่จำเป็นต้องรีบเก็บเงินจากประชาชนมากนัก เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เหลือให้จับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยที่กำลังเร่งพัฒนาแข่งกับประเทศใกล้เคียง


แต่ปัจจุบันมีการจ่ายเงินบำนาญมา 2 ปีแล้ว และเริ่มจ่ายมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ การที่ต้องดูแลผู้สูงอายุในวัยเกษียณที่เพิ่มเป็นจำนวนมากทำให้จำเป็นต้องมีการสำรองเงินที่เพิ่มมากขึ้น  


การเพิ่มเงินสมทบ เป็นการเพิ่มหลักประกันที่เพียงพอต่ออนาคต บางคนมองว่า “อยากอยู่สบาย ๆ ตอนแก่จึงต้องการจะจ่ายเงินสมทบเพิ่ม” และอีกหลายคนมองว่า “ลงทุนอย่างอื่นมันเสี่ยง แต่ออมกับประกันสังคมชัวร์กว่าเยอะ ได้บำนาญแน่นอน”  ทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้เนื่องจากผลประโยชน์ที่คุ้มค่าจึงอยากใส่เงินสมทบลงไปเพิ่ม


แต่คำถามที่เจ็บจี๊ดโดนใจเลยก็คือ ถ้าเรามีรายได้สูงขึ้น จะสามารถส่งเงินสมทบมากขึ้นได้มั้ย  ซึ่งคำตอบคือ “ไม่ได้ครับ”


ปัจจุบันการหักเงินสมทบประกันสังคม คิดจากเพดานฐานค่าจ้างสูงสุด ที่ 15,000 บาทเท่านั้น (หมายความว่าถ้าเงินเดือนสูงกว่านี้ ก็สามารถจ่ายเงินสมทบได้แค่เท่ากับคนที่มีเงินเดือน 15,000 บาทเท่านั้น) ซึ่งสมัยก่อนรายได้ของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 บาท ต่อเดือน จะเห็นว่าค่าเงินเดือนเฉลี่ยของประเทศไทยสูงขึ้นแต่เพดานฐานค่าจ้างของประกันสังคมกลับไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดยเพดานสูงสุดจะอยู่ที่ 15,000 บาท มีมานานกว่า 25 ปีแล้ว และด้วยรายได้เฉลี่ยของประชากรที่สูงขึ้น  ตอนนี้มีผู้ประกันตนแล้วประมาณ 30% ที่เงินเดือนสูงกว่า 15,000 บาท ทำให้ผู้ประกันตนส่วนนี้เสียโอกาสในการออมเงินเพิ่ม เพราะฉะนั้นการปรับฐานเพดานค่าจ้างให้เหมาะสมจึงเป็นการหยิบยื่นโอกาสให้ผู้ประกันตนได้ใส่เงินสมทบได้มากขึ้น


ในอีกมุมหนึ่ง อัตราเงินสมทบสำหรับส่วนที่เป็นเงินออมในประเทศไทยอยู่ที่ 3% (จากเงินสมทบทั้งหมด 5%)เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ประเทศอื่น ๆ มีอัตราเงินสมทบสำหรับการออมอยู่ที่ 15-20% ยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ ที่เก็บเงินสมทบสำหรับการออม 20%  เวียดนาม 6%  หรือแม้แต่ประเทศลาวเองก็เก็บถึง 4.5% เมื่อเปรียบเทียบดูจะเห็นว่าของประเทศไทยต่ำกว่ามาก ๆ ครับ และผมอยากตอกย้ำด้วยผลการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ระบุว่าเพื่อให้ได้เงินบำนาญชราภาพที่เพียงพอสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า แล้ว ประเทศนั้น ๆ ควรจะต้องมีการส่งเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 15% ของเงินเดือน หมายความว่าหากประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนกฎเกณฑ์อนุญาตให้คนไทยใส่เงินสมทบเพิ่ม ก็จะทำให้เงินบำนาญที่แต่ละคนจะได้รับหลังเกษียณนั้น ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในวันข้างหน้า


โดยในกลุ่มคนที่เข้าใจความคุ้มค่าในการออมกับสำนักงานประกันสังคม จะเรียกร้องให้ได้สิทธิ์ใส่เงินสมทบ (เงินออม) มากขึ้น เพราะอยากได้เงินบำนาญมากเพียงพอกับการใช้ในยามเกษียณ


ดังนั้น เพื่อให้คนไทยเรามีความพร้อมต่อการมีเงินบำนาญเพียงพอกับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ (ผู้คนอายุยืนขึ้นจึงต้องการเงินบำนาญในปริมาณที่เพิ่มขึ้น) การปรับเพดานค่าจ้าง และอัตราการเก็บเงินสมทบในประเทศจึงควรจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นอันดับแรก  เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเพิ่มเงินออมในช่วงที่ทำงานจ่ายเงินสมทบอยู่ เพื่อให้ได้เงินบำนาญที่จะได้รับเพิ่มขึ้นตามไปด้วยครับ


ผมเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายของประกันสังคม ให้ไปในทิศทางเดียวกันกับความต้องการเงินบำนาญในทุกวันนี้  เนื่องจากอัตราค่าครองชีพที่นับวันเริ่มสูงขึ้น ดังนั้นค่าบำนาญต่อเดือนจึงควรจะสูงขึ้นตาม และนอกจากนั้นการที่คนเรามีอายุยืนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การจ่ายเงินบำนาญควรจะต้องจ่ายให้ยาวนานขึ้น กองทุนจึงต้องมีขนาดที่ใหญ่พอเพื่อที่จะลงทุน และสำรองให้กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรในอนาคตข้างหน้านี้ได้


หากไม่มีการปฏิรูปเกิดขึ้น ผู้ประกันตนรุ่นปัจจุบันที่ออมเงินไม่มากพอ ในอนาคตอาจต้องถูกเก็บเงินสมทบหรือต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดก็เป็นได้ครับ


สรุปว่า ผ่านมา 25 ปีแล้ว รายได้เฉลี่ยประชากรของประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีรายได้มากขึ้นการออมก็จึงควรเพิ่มขึ้นตาม  การปรับเพดานค่าจ้าง และอัตราของเงินสมทบให้สูงขึ้นจึงเท่ากับว่าบำนาญของผู้ประกันตนก็จะสูงขึ้น ตามค่าครองชีพไปด้วย โดยรวมแล้วถือเป็นการสร้างรากฐานที่ดีในอนาคตของผู้ประกันตนและของประเทศชาติครับ 




โดย: อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) มือหนึ่งด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons) 

ผู้เขียนหนังสือขายดี The Top Job Secret ภาค 2 และที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน



Like Share

บทความอื่น