จัดกระบวนทัพใหม่กับความเหมือนที่แตกต่าง ของ SCBX กับ TIPH

16 กรกฎาคม 2562


จัดกระบวนทัพใหม่กับความเหมือนที่แตกต่าง ของ SCBX กับ TIPH

 

ปกติแล้วในคอลัมน์นี้ ผมจะไม่ค่อยเขียนเฉพาะเจาะจงเพื่อไปวิเคราะห์ในตัวบริษัท ซึ่งถ้าคนที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้จะสังเกตเห็นว่าผมจะเขียนวิเคราะห์ในมุมหลักการ ทิศทาง และภาพรวมมากกว่า เพื่อให้เป็นหลักคิดในการนำไปต่อยอดใช้กับชีวิตประจำวันได้


แต่เนื้อหาในครั้งนี้ผมขอเขียน และยกตัวอย่างบริษัทขึ้นมาบ้าง เพราะมันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงโครงสร้าง และทิศทางในการปรับกลยุทธ์ของวงการธุรกิจการเงิน

 ธุรกิจธนาคาร


ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอ่านได้ ถ้ายกตัวอย่างชื่อบริษัทให้เห็นภาพ และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงไตรมาสโค้งสุดท้ายของ ปี 2564 แล้วหลายคนคงยังตื่นเต้นไม่หายกับเรื่องของการ disrupt เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธุรกิจการเงินการธนาคารอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ออกมาประกาศว่าจะให้ SCBX เป็นยานแม่โดยมีบริษัทลูกอื่น ๆ ที่ทำธุรกิจครอบคลุมเชื่อมโยงส่งเสริมให้กับธุรกิจหลัก และเป็นพันธมิตรกับบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น CP หรือ AIS เป็นต้น


ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าโลกของการเงินได้เปลี่ยนไปถึงขนาดนี้แล้วหรือ แต่ก็ทำให้ได้เห็นการทำงานที่คล่องตัว และมีทิศทางในการดำเนินงานชัดเจนขึ้น อีกทั้งในตัวธนาคารเองก็มีฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เอามาทำประโยชน์ได้มากอยู่ นับว่าเป็นหมากตาเดินที่เฉียบขาดมาก


พอมาเห็นแบบนี้แล้วก็ย้อนกลับมามองที่ธุรกิจประกันบ้าง ปรากฏว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีบริษัทประกันอยู่แห่งหนึ่งที่ทำแบบนี้เช่นกัน ซึ่งก็แปลว่า SCB ไม่ใช่บริษัทแรกที่ทำแบบนี้


อย่างเช่น บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP ที่เพิ่งได้ทำการจดทะเบียนเป็น Holding Company เช่นกัน ซึ่งการตัดสินใจทำแบบนี้ก็เป็นทิศทางที่เฉียบคมสำหรับธุรกิจประกันภัยเช่นกัน


เนื่องจากธุรกิจประกันภัยมีกฎเกณฑ์หลายอย่างที่ต้องบริหารงานอย่างรอบคอบ ทำให้มีบางจังหวะที่ธุรกิจอาจเติบโตได้ช้า แต่พอมีการปรับโครงสร้างแบบที่ SCB ทำนั้น ก็กลายเป็นว่า ตัว Holding Company สามารถโฟกัสทิศทาง และหาพันธมิตรมาส่งเสริมการเติบโตได้อย่างทวีคูณ โดยเฉพาะธุรกิจประกันในยุคนี้ที่ต้องเดินทางพร้อมกับพันธมิตรทางธุรกิจไปด้วย


หากเป็นเมื่อก่อนนั้น ทาง TIP จะมีข้อจำกัดของประเภทธุรกิจที่นำเงินไปลงทุน หรือสัดส่วนของการลงทุน แต่หากเป็นโครงสร้างใหม่แบบ TIPH แล้วก็จะสามารถลงทุนในธุรกิจประเภทใดก็ได้

 

ซึ่งเท่าที่เห็นนี้ ทาง TIPH มีนโยบายที่จะลงทุนให้ครบ ecosystem ของธุรกิจประกันไม่ว่าจะเป็น ในตัวธุรกิจบริษัทประกันเอง และครอบคลุมไปถึงธุรกิจโบรกเกอร์ ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจ InsureTech ทำให้ TIPH ดูเหมือนเป็น SCBX ในเวอร์ชั่นของธุรกิจประกันไปเลยทีเดียว


ยกตัวอย่าง เช่น การปล่อยธุรกิจสินเชื่อจากกรมธรรม์ของบริษัทตัวเองนั้น ก็เป็นธุรกิจที่ทำโดยไร้ความเสี่ยงที่แทบจะไม่มีหนี้เสียเลย หรือเมื่อ TIPH สามารถลงทุนในพันธมิตรรอบด้านได้มากกว่าเดิม ก็ทำให้เปิดโอกาสในการไปลงทุนในธุรกิจอื่นที่มี P/E สูงได้

 disrupt


ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้ก็เหมือนกับ TIPH ได้ส่งเสริมให้คนไทยกล้าซื้อประกันมากขึ้น มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น เพราะการปล่อยสินเชื่อในที่นี้ น่าจะให้ดอกเบี้ยที่ต่ำได้ (เนื่องจากไร้ความเสี่ยง) และเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ซื้อประกัน


ไม่ว่าจะเป็น SCBX หรือ TIPH นั้น สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อ disrupt ตัวเองที่น่าติดตาม และดูว่าจะสร้างคุณค่าให้กับภาคธุรกิจของตนเองได้มากแค่ไหน

 

คงเป็นเรื่องสนุกที่เราจะได้เห็นการจัดกระบวนทัพใหม่ ๆ แบบนี้กับธุรกิจอื่น ๆ เช่นกัน เมื่อเราได้เห็นธุรกิจการเงิน ทั้งวงการธนาคารและวงการประกันภัยได้คิดหาวิธีก้าวกระโดดตัวเองให้เติบโตในยุคสมัยปัจจุบันที่เข้าสู่ดิจิทัลและยุคที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนธุรกิจไปพร้อมคู่ค้าและพันธมิตรให้ครบวงจรมากขึ้น




ยุคสมัยนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และก็ไม่ใช่ปลาเร็วกินปลาช้า

แต่สิ่งที่เรากำลังจะเห็นคือ ปลาใหญ่ที่เร็วและพร้อมจะ disrupt ตัวเองนั้น

จะเป็นเจ้าแห่งปลาทั้งหมดในท้องทะเลครับ


 

ขอขอบคุณอ้างอิง: ประชาชาติธุรกิจ 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)

คอลัมน์คุยฟุ้งเรื่องการเงิน: วันที่ 21 ตุลาคม 2564



FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพ Love Battle รักปี 2 ปียินดีคืนเงิน 
และผู้แต่งหนังสือ 
  • The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  • The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)

บทความที่เกี่ยวข้อง




Like Share

บทความอื่น