หรือว่าเงินจะบูดเสียแล้วกับดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ย

30 มีนาคม 2563

หรือว่าเงินจะบูดเสียแล้วกับดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ย



ประกันบำนาญ, พันธบัตร, ดอกเบี้ย, พันธบัตรรัฐบาล, อัตราผลตอบแทน, ลดหย่อนภาษี, หุ้นกู้, ตราสารหนี้, การวางแผนการเงิน, การเงิน, การลงทุน, Financial Planing
 

พันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของวันที่ 20 กพ 63 ดอกเบี้ยเหลือ 1.12% (แปลว่าเดี๋ยวนี้ฝากยาวถึง 10 ปี ยังได้ดอกเบี้ยต่อปี แค่ 1.12%) ส่วนพันธบัตรรัฐบาล 15 ปี ของวันที่ 20 กพ 63 ดอกเบี้ยเหลือ 1.38% (แปลว่าเดี๋ยวนี้ฝากยาวถึง 15 ปี ยังได้ดอกเบี้ยต่อปี แค่ 1.38%) ซึ่งถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติศาสตร์ไทยเลยทีเดียว 

ผลกระทบต่างๆ จากอัตราดอกเบี้ยต่ำนั้นมีหลายรูปแบบและมองได้หลายมุม โดยผมจะขอวิเคราะห์ถึงผลกระทบกับสินทรัพย์และหนี้สินที่ฝั่งอยู่ในบริษัทต่างๆ ทั้งหมด 3 รูปแบบที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา แต่เราจะคิดไม่ถึง ดังนี้ครับ

1. ผลกระทบกับงบการเงินของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่กำลังจะประกาศออกมาภายใน ก.พ. 63 นี้ โดยจะเห็นว่าภาระหนี้สินผลประโยชน์พนักงานจะมีผลกระทบมาก ตัวอย่างของหนี้สินผลประโยชน์พนักงาน เช่น การจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้างในยามเกษียณ ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์ระยะยาวที่ต้องจ่ายในอนาคตเวลาที่พนักงานเกษียณ โดยบริษัทจะต้องตั้งสำรองไว้ตอนนี้ ไม่ใช่ไปจ่ายตูมเดียวในอนาคต เพราะเมื่อคำนวณออกมาแล้วจะมีหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น และเท่าที่ผมวิเคราะห์ดูแล้ว คิดว่าหนี้สินผลประโยชน์พนักงานตัวนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 15% กันถ้วนหน้า หมายความว่า สมมติว่า ถ้าจริงๆ แล้วตอนนี้มีหนี้สินตั้งไว้ 100 ล้านบาท แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ทำให้ต้องเปลี่ยนไปตั้งหนี้สินให้สูงขึ้นให้เป็น 115 ล้านบาท เป็นต้น สำหรับคนที่อยากทราบเหตุผลว่าทำไมดอกเบี้ยลงแล้วบริษัทต้องมีหนี้สินสูงขึ้นนั้น นั่นเป็นเพราะเราจะเห็นว่าเงินที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนั้นทำงานได้ช้าลง เช่น แทนที่ตั้งเป้าว่า วันนี้มี 100 ล้านบาทก็เพียงพอแล้วที่จะให้เงินทำงานงอกเงยเพื่อไปจ่ายหนี้ในอนาคตที่ 150 ล้านบาทได้ แต่ปรากฎว่าดอกเบี้ยดันต่ำลงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้เงินทำงานได้น้อยลง ก็เลยต้องเปลี่ยนไปตั้งหนี้ตอนนี้ให้เป็น 115 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากเดิม 15 ล้านบาท) เพื่อที่จะไปใช้หนี้ในอนาคตที่ 150 ล้านบาทได้เหมือนเดิม


2. ผลกระทบบริษัทประกันชีวิต แบบประกันใหม่เบี้ยแพงขึ้นกว่าเดิม หรือไม่ก็ผลประโยชน์เปลี่ยนไป ส่วนแบบประกันเก่านั้นบริษัทประกันชีวิตต้องแบกรับต้นทุน หนี้สินสูงขึ้นเพราะไปการันตีไว้ เท่าที่วิเคราะห์ดูคร่าวๆ เบี้ยประกันระยะยาวจะแอบแพงขึ้น 10% ไม่ก็ผลประโยชน์อะไรซักอย่างหายไป 10% เนื่องจากหลักการและเหตุผลเดียวกับการตั้งหนี้สินสำหรับผลประโยชน์พนักงานระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทประกันชีวิตที่ต้องมีการจ่ายค่าเคลมและเงินสดคืนในอนาคตให้กับลูกค้าแต่ละคน โดยบริษัทประกันจะต้องจ่ายเงินการันตีให้ลูกค้าในอนาคตได้ทั้งหมดและต้องกันเงินสำรองตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยเอาไว้ให้ลูกค้าในตอนนี้ (ไม่ใช่รอไปจ่ายตามมีตามเกิดในวันข้างหน้าเวลาที่มีลูกค้าเรียกเคลมหรือต้องจ่ายเงินคืนให้ลูกค้า) เราเรียกเงินสำรองนี้ว่าเงินสำรองกรมธรรม์ทางคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยจะสังเกตเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ดอกเบี้ยระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง ทำให้กรมธรรม์ประกันชีวิตในแต่ละฉบับจะต้องมีการตั้งหนี้สินเพิ่มขึ้น และบริษัทประกันชีวิตจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาเป็นเงาตามตัว ซึ่งถ้าเป็นกรมธรรม์ฉบับเก่านั้น บริษัทประกันก็ไปทำอะไรไม่ได้เพราะการันตีไปแล้ว บริษัทประกันชีวิตได้แต่ปรับเบี้ยประกันใหม่สำหรับกรมธรรม์ที่กำลังจะขายใหม่เท่านั้น (ใครที่ถือกรมธรรม์เก่าๆ อยู่ ให้กอดเป็นขุมทรัพย์ไว้เลยครับ)


3. ผลกระทบกองทุนรวมพันธบัตร ที่จะได้อานิสงส์ส้มหล่นเพราะพันธบัตรที่ซื้อมาก่อนหน้านั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เผลอๆ ได้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้น (เฉพาะคนที่ซื้อก่อนหน้านั้น) แต่ใครที่จะไปซื้อใหม่ ก็คงไม่ทันแล้ว (เหมือนประกันชีวิต ของเดิมจะดีมาก แต่ของใหม่จะแพงขึ้น) และยิ่งเมื่อก่อนได้ซื้อแบบระยาวไว้ ก็ยิ่งได้อานิสงส์มาก โดยหลักการนี้ก็เช่นเดียวกับเงินสำรองของผลประโยชน์พนักงานและเงินสำรองของกรมธรรม์ประกันชีวิต เพียงแต่มันกลับด้านกัน เพราะพันธบัตรที่ซื้อมานั้นถือว่าเป็นสินทรัพย์ (ไม่ใช่หนี้สิน) และเวลาที่เราซื้อมานั้น เราเป็นเจ้าหนี้และคาดหวังเงินการันตีที่จะได้รับในอนาคตเอาไว้ มูลค่าของพันธบัตรจึงขยับขึ้นลงตามอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันว่าจะให้เงินได้งอกเงยเร็วขึ้นแค่ไหน ถ้าดอกเบี้ยน้อย แปลว่ามูลค่าพันธบัตรที่ถืออยู่ตอนนี้จะมีค่าสูงขึ้น (เพราะเงินที่เราจะได้รับคืนในอนาคตทุกอย่างถูกการันตีไว้หมดแล้ว เพียงแต่คนขายพันธบัตรจะต้องกันเงินสำรองเอาไว้ให้เรา) เราอาจจะมองในอีกมุมหนึ่งก็ได้ว่า คนขายพันธบัตรให้เราจะต้องกันเงินสำรองเหมือนที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์กันไว้สำหรับผลประโยชน์พนักงานระยะยาว (เช่น จ่ายชดเชยตอนเกษียณ) หรือ กันสำรองเหมือนที่บริษัทประกันชีวิตตั้งไว้ ดังนั้นมุมคนซื้อแล้วก็จะได้มูลค่าของพันธบัตรเท่ากับมูลค่าของสำรองที่คนขายพันธบัตรกันเงินเอาไว้


ทั้งหนี้สินผลประโยชน์พนักงาน สำรองกรมธรรม์ประกันชีวิต และกองทุนรวมพันธบัตร นั้นอาจจะมองว่าแตกต่างกันสิ้นเชิง แต่ทั้งหมดมาจากหลักการเดียวกัน และได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวที่ตกลงมาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งจะต่ำไปอีกนานแค่ไหน เราต้องมาคอยดูกันครับ 



นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย 
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน 
และผู้แต่งหนังสือ 
  • The Top job Secret ภาค 1 - อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก 
  • The Top job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)






Like Share

บทความอื่น