ทางออกประเทศไทย ของคนเกษียณอายุ

8 สิงหาคม 2562

ทางออกประเทศไทยของคนเกษียณอายุ



ทราบหรือไม่ว่า ในอีกประมาณ 10 กว่าปีข้างหน้านั้น คนไทยจำนวน 1 ใน 4 (หรือร้อยละ 25) จะมีอายุเกิน 60 ปี และถ้าหมุนเวลาต่อจากนั้นไปอีก 10 ปี จากที่คิดว่าอัตราส่วน 1 ใน 4 ถือว่าเยอะมากแล้ว แต่เราจะกลายเป็นประเทศที่มีคนอายุเกิน 60 ปีอยู่ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ในตอนนั้น ถ้าเรามีคนไทย 3 คน จะมีคนที่เกษียณอายุอยู่ 1 คน*

 

การวางแผนเพื่อการเกษียณสำหรับคนไทยในยามนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติที่ทุกคนกำลังพูดถึงกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เพื่อให้ทุกคนได้หันมารู้จักการออมเงิน ใช้เงินให้เป็น บริหารเงินให้เป็น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้รู้จักวางแผนการเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณได้

 

แต่สิ่งที่ทุกคนชอบคิดกันก็คือ การที่ไม่ได้วางแผนว่าเราจะมีชีวิตยืนยาวกว่าที่คิด ซึ่งจากตารางมรณะของ คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ที่ออกมาทุก ๆ 10 ปี จะเห็นว่า คนไทยจะมีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น 4 ปี ในทุก ๆ 10 ปี ซึ่งหมายความว่า ถ้าตอนนี้อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 74 ปี สำหรับคนอายุ 40 ปีในตอนนี้ และเวลาผ่านไปอีก 20 ปีข้างหน้า ตอนนั้นคนไทยคงอายุขัยเฉลี่ย 82 ปี (74+4+4) ไปแล้ว




สรุปคือ หลายคนที่มองว่าตัวเองคงแก่ตายตอนอายุ 74 ปี

แต่จริง ๆ แล้วอาจจะต้องเตรียมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณให้นานกว่านั้น



การเกษียณ


ความเสี่ยงที่ทุกคนลืมมองกันนี้เราเรียกว่า longevity risk ซึ่งแปลว่า ความเสี่ยงที่เราจะอยู่อึด อยู่ทน อยู่ยืด อยู่นานนั่นเอง ซึ่งมันเป็นความเสี่ยงที่ตรงข้ามกับการตายเร็วกว่าที่ควรจะเป็น (การใช้ชีวิตของคนบนโลกเราอยู่บนความเสี่ยงจริง ๆ เพราะพอเราตายเร็วกว่าที่ควรจะเป็นก็เป็นความเสี่ยง ตายช้ากว่าที่ควรจะเป็นก็เป็นความเสี่ยงอีก)

 

การวางแผนเพื่อการเกษียณจึงต้องคำนึงเผื่อถึงอายุขัยของแต่ละคนด้วย ซึ่งแต่ละคนก็คงจะไม่สามารถคาดเดาอายุของตัวเองที่แน่นอนได้ บางคนอาจจะตายก่อนหรือตายช้ากว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย แต่ที่รู้ ๆ คือ คนไทยจะมีอายุขัยเฉลี่ยที่นานขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้นตามลำดับ (แต่ก็ต้องมีเงินค่ารักษาพยาบาลที่มากขึ้นตามเช่นกัน)

 

นอกจากเรื่องอายุขัยของแต่ละคนที่ยาวนานขึ้น จนทำให้ต้องเผื่อเงินสำหรับเกษียณอายุให้นานขึ้นแล้ว ประเด็นสำคัญที่คนไทยอาจจะยังไม่รู้ก็คือ อัตราค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีที่มันวิ่งเร็วกว่าอัตราการขึ้นของเงินเดือนหรือการเติบโตของกิจการของแต่ละคนไปมาก


ค่ารักษาพยาบาล


อัตราค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี ซึ่งไม่ได้นับว่าสูง เพราะถ้าสืบเสาะทั่วโลกแล้วก็จะเห็นว่ามันอยู่ที่ประมาณ 8-12% ต่อปีเช่นกัน แปลว่าถ้าอัตราการขึ้นเงินเดือนหรืออัตราการเติบโตของกิจการอยู่ที่เฉลี่ย 4% ต่อปี แต่ค่ารักษาพยาบาลพุ่งขึ้นปีละ 8% ต่อปี คนไทยต้องทำงานเก็บเงินอย่างไรถึงจะพอ

 

ถ้าต้องการใช้เงินเกษียณไป 20 ปี (สมมุติว่าต้องอยู่ถึงอายุ 80 ปี) ปีละ 100,000 บาท ก็แปลว่า ตอนนี้เราต้องทำงานเก็บให้ได้เงินเดือน ปีละ 100,000 บาท ไป 40 ปี (ดูตาราง)


ตารางอัตราผลตอบแทน



จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การวางแผนการเงินสำหรับใช้ในยามเกษียณนั้นเป็นเรื่องที่ปล่อยไปไม่ได้ โดยทางภาครัฐได้เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อเตรียมตัวให้คนไทยพร้อมรับกับคลื่นยุคสังคมสูงอายุ เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่เผชิญอยู่ในขณะนี้

 

และไม่ต้องแปลกใจเลยว่าสังคมสูงอายุจะมาพร้อมกับเศรษฐกิจที่โดนตรึงไม่ให้โต และอัตราดอกเบี้ยจะต่ำ เพราะทุกคนจะแย่งกันออมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานที่เตรียมออมสำหรับเกษียณ รวมถึงคนที่เกษียณไปแล้วที่ไม่ควรลงทุนในอะไรที่มีความเสี่ยง เป็นต้น

 


ดังนั้น ใครที่วางแผนเกษียณก่อนตั้งแต่ตอนนี้จะได้เปรียบกว่า เพราะระยะเวลาที่ปล่อยให้เงินออกดอกออกผลนั้นไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าเงินต้นหรือตัวเงินที่เราใส่ไว้ตั้งต้นในการออมเลยครับ


 

หมายเหตุ : *ข้อมูลที่ประมาณการข้างต้น ไม่รวมโอกาสการเสียชีวิตของผู้สูงอายุจากการติดเชื้อโควิด ที่อาจจะกลายพันธุ์หรือแพร่กระจายในวงกว้างในอนาคต

 

ขอขอบคุณอ้างอิง: ประชาชาติธุรกิจ 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)

คอลัมน์คุยฟุ้งเรื่องการเงิน: วันที่ 7 ตุลาคม 2564




นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย 
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน
และผู้แต่งหนังสือ 
  •  The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  •  The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)

บทความที่เกี่ยวข้อง