เพิ่มสิทธิผลประโยชน์ “กรมธรรม์ให้ฟรี” มีจริงหรือ?

11 กันยายน 2564

เพิ่มสิทธิผลประโยชน์ “กรมธรรม์ให้ฟรี” มีจริงหรือ?




ขบวนการที่พยายามดึงให้ลูกค้าย้ายค่ายของธุรกิจประกันชีวิตนั้นยังคงมีอยู่เรื่อยมา



การให้ลูกค้าย้ายค่ายนั้นก็มีได้อยู่หลายรูปแบบ และวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย เช่น ในยุคแรกเป็นการดึงลูกค้ากันตรง ๆ ผ่านการชักชวนให้ลูกค้ายกเลิกกรมธรรม์เอามูลค่าเวนคืนเงินสดออกมาเพื่อมาซื้อกรมธรรม์ฉบับใหม่กับบริษัทของตัวเอง โดยอาจจะเอาตารางตัวเลขต่าง ๆ มากางให้ผู้ถือกรมธรรม์ดูและอ้างว่าเป็นการวิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว

ส่วนใหญ่ที่มีการวิเคราะห์กันก็คือ การบอกให้ยกเลิกกรมธรรม์ในปีที่ 7 แต่เหตุผลในเชิงของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นก็คือ ถ้ายกเลิกภายใน 7 ปีแรก มันจะมีฝังค่าธรรมเนียมในการยกเลิกเอาไว้ (surrender charge) คล้าย ๆ กับพวกกองทุนรวมบางแบบที่มีค่าธรรมเนียมการถอน (เช่น กองทุนวายุภักษ์)

หรือถ้าให้อธิบายอีกแบบหนึ่งก็คือ จริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงสูตรการคำนวณที่บอกว่า การยกเลิกกรมธรรม์ในช่วง 7 ปีแรกนั้น ทำให้กรมธรรม์ส่วนใหญ่จะมีการจ่ายมูลค่าเวนคืนเงินสดที่ต่ำกว่าเงินสำรองกรมธรรม์จริง ๆ นั่นเอง ส่วนในปีที่ 7 เป็นต้นไปนั้น มูลค่าเวนคืนเงินสดจะมีค่าเท่ากับเงินสำรองกรมธรรม์ทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งก็หมายความว่ามันก็แฟร์ตามสูตรการคำนวณอยู่ทุกปีครับ

หลายคนมองว่าจ่ายเบี้ยครบ 7 ปีแล้วหยุดจ่ายจะคุ้มที่สุด โดยบ่อยครั้งมักจะมีคนคำนวณออกมาว่า การถือ 7 ปีจะดูเหมือนว่ามี IRR ที่คุ้มสุด



ซึ่งเหตุผลหลักที่บางกรมธรรม์นั้นดูเหมือนจะมีผลตอบแทนเมื่อถือครบ 7 ปีที่มากกว่าหรือเท่ากับผลตอบแทนเมื่อถือยาวกว่านั้นก็คือกรมธรรม์ประกันชีวิตนั้นมีต้นทุนในความคุ้มครองประกันชีวิตอยู่ ยิ่งอายุเยอะขึ้นก็จะมีการหักค่าธรรมเนียมความคุ้มครองประกันชีวิตในแต่ละปีออกไปด้วย ยิ่งอายุมากก็จะโดนหักมาก (เพราะอัตรามรณะยิ่งสูงขึ้น)

เพราะฉะนั้น พอเราจ่ายเบี้ยไปสักพักจนอายุเยอะขึ้นมาแล้ว มูลค่าเวนคืนเงินสดมันก็จะมีชะลอตัวไปบ้าง เพื่อจ่ายค่าความคุ้มครองชีวิตที่เรามีโอกาสในการตายสูงขึ้น

ผลประโยชน์ความคุ้มครองประกันชีวิตนั่นเองคือผลประโยชน์แฝงที่ไม่ว่าไปซื้อกรมธรรม์ใหม่ก็จะโดนค่าธรรมเนียมที่ฝังในสูตรการคำนวณนี้อยู่ดี (ซึ่งปัจจุบันใครที่รู้จักยูนิตลิงค์ (ประกันพ่วงการลงทุน) กันอยู่แล้วก็จะนึกภาพตามได้ง่าย เพราะยูนิตลิงค์ก็จะมีการหักค่าธรรมเนียมจากความคุ้มครองชีวิตในแต่ละเดือนออกไป)

เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มรู้ตัวแล้วว่า การยกเลิกกรมธรรม์นั้นไม่มีผลดีกับตัวเองแต่อย่างไร จะมีเพียงบางกลุ่มที่ยอมไปยกเลิกในปีที่ 7 แล้วเอาเงินมาซื้อกรมธรรม์ใหม่ ซึ่งในมุมของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแล้วก็คงต้องบอกว่า “ก็ไม่คุ้มอยู่ดี” เพราะกรมธรรม์ใหม่นั้นได้ถูกคิดคำนวณต้นทุนที่แพงกว่า (เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า) ซึ่งคิดตามแค่นี้ก็จะทราบว่ามันคงไม่คุ้มอยู่แล้ว 



แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เริ่มมีการเปลี่ยนรูปแบบให้ภายนอกดูเหมือนน่าเชื่อถือและซับซ้อนขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเข้าใจแล้วว่าการยกเลิกกรมธรรม์นั้นจะทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ

ดังนั้น ขบวนการชักชวนให้ย้ายค่ายจึงเปลี่ยนรูปแบบให้กลายเป็นบริษัทที่ปรึกษา โดยส่วนใหญ่แล้วคำขึ้นต้นนั้นจะเป็นประโยคชักชวนว่าต้องการจะ “มอบสิทธิผลประโยชน์เพิ่มเติมให้ฟรี” และเป็นตัวแทนของบริษัทประกันชีวิตกว่า 23 บริษัทที่ได้รับการรับรองจาก คปภ.

ในส่วนตรงนี้ก็จะมีการเล่นคำอยู่เล็กน้อย เพราะบางรายที่โทร.มาเจอนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเอง ก็อาจจะมีวิธีถามว่า บริษัทที่ปรึกษาได้รับรองจาก คปภ.อย่างไรบ้าง

ซึ่งพอขยี้ถามลึกเข้าไปก็อาจจะพบว่า ที่ คปภ.รับรองนั้นก็คือ รับรองบริษัทประกันชีวิต 23 บริษัท หรือไม่ก็จะได้คำตอบที่ว่า คปภ.รับรองมูลค่าเวนคืนเงินสดและผลประโยชน์ในกรมธรรม์ แต่ไม่มีใจความตรงไหนที่บอกว่ารับรองบริษัทที่ปรึกษานั้น

เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ถามตรงไปหน่อยว่า แล้วสิ่งที่เขาทำอยู่นี้ได้รับการรับรองจาก คปภ.หรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือโดนตัดสายไปเช่นกันครับ แต่ก็มีอีกสายหนึ่งที่ดูอลังการขึ้นมาหน่อยก็คือ บอกว่าการวิเคราะห์นี้ผ่านนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาแล้ว ยิ่งทำให้ดูน่าเชื่อถือเข้าไปใหญ่ครับ

เคยเจอคำตอบหนึ่งที่โดนใจ (แบบเจ็บลึก ๆ) คือบอกว่าทางบริษัทที่ปรึกษาได้เกิดจากโครงการริเริ่มของ คปภ.เพื่อให้สิทธิประโยชน์สูงสุดกับลูกค้ากรมธรรม์ที่มีอยู่ (ฟังแบบนี้ เป็นใครก็ต้องเชื่อ) เมื่อถามว่าสิทธิผลประโยชน์เพิ่มเติมพิเศษที่จะได้ฟรีนั้นมีอะไรบ้าง ก็จะได้คำตอบว่าเป็นการครอบคลุมเรื่องการเพิ่มทุนประกันภัยให้ฟรีได้โดยที่ไม่ต้องจ่ายเบี้ยเพิ่ม

ซึ่งพอมีการถามเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ดูแล้วมันก็คือการใช้ reduce paid up (RPU) ซึ่งภาษาไทยนั้นจะแปลว่า “การประกันชีวิตใช้เงินสำเร็จลดเงินเอาประกันภัย”

แต่จริง ๆ แล้วในเชิงเทคนิคทางคณิตศาสตร์ประกันภัยแล้ว ถ้าการที่กรมธรรม์ทำ RPU ไปแล้วไม่ขอรับเงินสดคืน (coupon) ระหว่างทางก็จะมีโอกาสที่ทุนประกันชีวิตสูงขึ้นได้ (เอาเงินผลตอบแทนในอนาคตมาทำให้ทุนเพิ่ม)

อีกกรณีหนึ่งก็คือ การใช้วิธีการหยุดจ่ายเบี้ยและเลือกให้กลายเป็นกรมธรรม์แบบขยายระยะเวลา ซึ่งมันก็จะเปลี่ยนเงินสดคืน (coupon) ในอนาคตมาให้เป็นมูลค่าเวนคืนเงินสดในตอนนี้เช่นกัน เพียงแต่กรมธรรม์จะยังคุ้มครองทุนประกันชีวิตอยู่เท่านั้น ทำให้เสียโอกาสผลตอบแทนในอนาคตไป เรียกได้ว่ามันเป็นการหยุดจ่ายเบี้ยประกันภัยแต่ยังรักษาสิทธิของทุนประกันชีวิตอยู่เท่านั้น




การที่แนะนำวิธีการเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อชักชวนให้ผู้ถือกรมธรรม์เดิมหยุดจ่ายเบี้ยกรมธรรม์เดิม และเอาเงินส่วนนั้นมาจ่ายเบี้ยให้กับกรมธรรม์ใหม่นั่นเอง แต่ถ้าลูกค้าเผลอเมื่อไร ก็คงมีการแนะนำให้ยกเลิกกรมธรรม์เดิมเพื่อเอามูลค่าเวนคืนเงินสด (เป็นเงินก้อน) มาซื้อกรมธรรม์ใหม่ ๆ ที่อ้างว่ามีประโยชน์ดีกว่ากรมธรรม์เดิมให้อยู่ดี

แน่นอนว่าก็คงจะมีบางสายที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์ผลประโยชน์ให้จริง แต่คำถามที่มีการถามกลับไปเป็นประจำก็คือ ถ้าทำไปแล้วทางบริษัทที่ปรึกษานั้นจะได้อะไร ซึ่งก็แล้วแต่คำตอบครับ

วิธีการอธิบายของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น เราก็สามารถบอกได้ว่ามีความน่าเชื่อถือและดูเหมือนอย่างน้อยก็จบวุฒิปริญญาตรีทางด้านการเงินมา ทำให้เวลาฟังแล้วดูเหมือนมีเหตุผล

แต่ที่จริงแล้วต้องใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัยในการคิดตาม หรือไม่ก็ต้องปรึกษาตัวแทนประกันชีวิตที่ดูแลเราอยู่ว่ามันจริงด้วยหรือ เพราะกรมธรรม์ประกันชีวิตนับวันก็ยิ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้น มันคงเป็นไปได้ยากที่กรมธรรม์ที่ออกมาใหม่ ๆจะสู้กับกรมธรรม์รุ่นเก่า ๆ ได้

กรมธรรม์ประกันชีวิตเก่า ๆ ที่มีอยู่จึงถือว่าเป็นของลายครามที่ควรสะสมเก็บเอาไว้ ไม่ควรเอาของเก่าไปแลกของใหม่ เว้นเสียแต่ว่าจะมีเหตุผลส่วนตัวที่ไม่ต้องการมีกรมธรรม์ประกันชีวิตอีกต่อไป



กรมธรรม์ประกันชีวิตนะครับ ไม่ใช่ไอโฟนที่ต้องเปลี่ยนกันบ่อย ๆ



ขอขอบคุณอ้างอิง: ประชาชาติธุรกิจ 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)

คอลัมน์คุยฟุ้งเรื่องการเงิน: วันที่ 19 กรกฎาคม 2564


โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยคุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่ FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)

อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย 

อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย

อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน 

และผู้แต่งหนังสือ

  • The Top job Secret ภาค 1 - อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  • The Top job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)

บทความที่เกี่ยวข้อง




Like Share

บทความอื่น