10 ตุลาคม 2561
คนแก่...ล้นโลก
สังเกตว่าในช่วงนี้จะมีคนออกมาเป็นห่วงและมองหามาตรการรองรับการดูแลผู้สูงอายุกันอย่างจริงจัง
เพราะเห็นว่าในไม่ช้า โครงสร้างประชากรโลกจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมการมีลูกน้อยลง
ประกอบกับการที่เรามีอายุเฉลี่ยยืนขึ้น ซึ่งเราอาจจะใช้ชีวิตหลังเกษียณยาวนานมากกว่า
20 ปีกันเลยทีเดียว
กรณีของบ้านเรา ผู้สูงอายุจะหวังพึ่งเงินงบประมาณรัฐทางด้านสวัสดิการสังคมหรือสาธารณสุขก็คงไม่พอ หวังให้ลูกหลานเลี้ยงดูก็ไม่แน่ใจ เพราะวัฒนธรรมเลี้ยงดูคนแก่ในปัจจุบันก็เริ่มเปลี่ยนไป (ไม่ใช่เพราะอกตัญญู แต่เพราะลูกหลานของเราก็ไม่มีเงินเหมือนกัน) ครั้นจะหวังพึ่งเงินสะสมของตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะพอใช้จนถึงบั้นปลายชีวิตหรือเปล่า มิหนำซ้ำอาจจะต้องกลุ้มใจกับอายุที่ยืนยาวโดยไม่ทันรู้ตัว
ผมแอบขออิงตัวเลขทางสถิตินิดนึง... ในอีก 15 ปีข้างหน้า คาดว่าประชากรในประเทศไทยเราจะมีอัตราส่วนของผู้สูงอายุมากถึง
25% เลยทีเดียว (สมมติว่าโยนหินไปกลางอากาศ
4 ครั้ง จะมีอยู่ 1 ครั้งที่หินจะตกลงมาโดนคนสูงอายุ ซึ่งคนๆ นั้นอาจจะเป็นผมเองก็ได้...555)
และเมื่อถึงตอนนั้น ประเทศไทยเราจะกลายเป็นประเทศที่มีสังคมผู้สูงอายุมากเป็นอันดับต้นๆ
ในเอเชีย
ยิ่งถ้าไปถามคนวัยรุ่นหรือวัยทำงานสมัยนี้ว่าจะใช้ชีวิตยามเกษียณอย่างไร
เดี๋ยวนี้บางคนถึงกับตอบว่า “อยากมีชีวิตอยู่ถึงแค่อายุ 60”
แล้วขอลาโลกไปเลยดีกว่าก็มี เพราะไม่รู้จะจัดการกับชีวิตตัวเองในยามเกษียณอย่างไร
ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันและค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ในอนาคตนั้นที่นับวันก็มีแต่สูงขึ้น
บางคนก็กลัวจะเป็นภาระให้ลูกหลาน หรือบ้างก็กลัวว่าจะเกษียณแบบไม่มีคุณภาพชีวิต (แบบกัดก้อนเกลือกิน)
หรือเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ หรืออัมพาตอยู่บนเตียง เป็นต้น โดยจากสถิติการจ่ายเคลมของบริษัทประกันภัย
แล้วจะเห็นว่า โรคร้ายแรง 3 อันดับแรกที่คอยถามหาคนไทยก็คือ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ
และโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง ซึ่งนี่ก็ยังไม่นับรวมถึงโรคอัลไซเมอร์และโรคอัมพาต
ลองนึกสภาพโรคแต่ละโรคที่เราต้องมาเป็นในตอนสูงอายุกันดูสิครับ
ฟังดูแล้วน่ากลัวทั้งนั้น ไม่ใช่เพราะว่าทรมานจากโรคแต่เพียงอย่างเดียว
แต่ยังมีเรื่องการทรมานจากการหาเงินมาจ่ายบิลค่ารักษา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่วิ่งขึ้นสูงลิ่ว เฉลี่ยปีละ 6% - 8%
มาตลอด ซึ่งก็ประเมินกันไว้ว่า
ค่ารักษาพยาบาลในอีก 10 ปีข้างหน้า จะสูงขึ้นอย่างน้อยเป็นเท่าตัวจากตอนนี้!
ด้วยเหตุนี้ การประกันบำนาญจึงเป็นเครื่องมือทางการเงิน ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา ให้ช่วยบริหารความเสี่ยงสำหรับผู้ต้องการวางแผนการเกษียณโดยเฉพาะ ซึ่งก็เริ่มแพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันในประเทศไทย เนื่องจากภาครัฐสนับสนุนให้สามารถในมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 200,000 บาท ต่อปี การจ่ายเงินคืนของประกันบำนาญก็จะเป็นการจ่ายรายงวดไปจนถึงอายุที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือจ่ายไปจนกว่าจะเสียชีวิต โดยคนที่ซื้อประกันบำนาญอาจจะจ่ายเงินสะสมไปเรื่อยๆ หรือใช้เงินก้อนที่ได้จากการเกษียณมาซื้อก็ได้
พูดง่ายแต่ทำยาก...เศรษฐกิจก็ฝืดเคือง
แค่เงินใช้จ่ายในแต่ละวันก็ไม่ค่อยจะพอ ไหนจะค่าเล่าเรียนลูก ไหนจะต้องผ่อนบ้าน
ผ่อนรถกันอีก ปัญหามันจึงอยู่ที่ว่า...ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินก้อนหรือเงินสะสมไปซื้อประกันบำนาญกันหรอก
สมบัติที่อาจจะเหลือติดตัวยามเกษียณบ้างก็คือลูกหลานและบ้านหลังหนึ่งกับเงินเพียงน้อยนิด
แต่มีอยู่สองสิ่งที่ห้ามประมาทในยามเกษียณโดยเด็ดขาดครับ
คือ อย่าประมาทวิทยาการทางการแพทย์ที่ทำให้คนเราอายุยืนยาวมากขึ้นในอนาคต และ
อย่าประมาทค่าบิลรักษาพยาบาลที่วิ่งสูงขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ
แล้วเราจะใช้ชีวิตยามเกษียณในตอนนั้นได้อย่างไร ถ้าเราไม่วางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณแล้วเริ่มต้นเก็บเงินเอาไว้ตอนนี้
การลงทุนแบบ “เม่า...เก้าชีวิต”
ที่ยังไงก็ต้องรักษาเงินต้นเอาไว้ให้ได้ และมองเป้าหมายการลงทุนในระยะที่ยาวๆ
ให้เชื่อมกับการวางแผนยามเกษียณนั้น
จึงเป็นหนึ่งในคำตอบที่พวกเราจะต้องตื่นตัวกันตอนนี้
“ต้องอยู่กันไปอีกนาน ยามเกษียณนี้...ทนอยู่อีกหลายสิบปี คงต้องมีเงินให้อาศัย...เกษียณแล้วมองท้องฟ้า ไปว่ายน้ำ ปีนภูเขา ปลูกต้นไม้... แล้วเราจะอยู่อย่างไร ถ้าไม่มีเงินบำนาญเหลือเลย” ขอยืมเพลง “บ้านของเรา” ของพี่เบิร์ดมานิดนึง...ถ้าใครคุ้นๆ เพลงนี้ แสดงว่าต้องเริ่มวางแผนเพื่อการเกษียณกันแล้วครับ"
โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) มือหนึ่งด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
ผู้เขียนหนังสือขายดี The Top Job Secret ภาค 2 และที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน