กองทุนลดหย่อนภาษีแบบใหม่ เงื่อนไขใหม่ ที่เรียกว่า SSF & RMF
(เอามาใช้แทน LTF & RMF แบบเก่า)
1. SSF มาแทนที่ LTF
1.1 LTF แบบเดิมลงทุนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 5 แสน แต่ SSF ตัวใหม่ลงทุนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท
เดิม = min [15% ของรายได้ , 5 แสนบาท]
ใหม่ = min [30% ของรายได้ , 2 แสนบาท]
จากสมการข้างบน แปลว่า "ของใหม่ จะเปิดโอกาสให้คนรายได้ปานกลางถึงน้อยได้ซื้อมากขึ้น แต่สำหรับคนรายได้สูงจะสามารถซื้อได้น้อยลง" ถือว่าเป็นการจูงใจให้คนทั่วไปได้เพิ่มเพดานการซื้อได้มากขึ้น ส่วนคนที่รายได้สูงนั้นจะโดนกดเพดานให้ซื้อลดหย่อนภาษีได้ต่ำลง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนคนที่รายได้ถึง 277,777 บาท ต่อเดือนขึ้นไป ถึงจะแตะโดนเพดานลดหย่อนยังได้ถึง 5 แสนบาท แต่ของใหม่เดี๋ยวนี้ คนที่มีรายได้ตั้งแต่ 55,555 ต่อเดือนขึ้นไป ก็แตะเพดาน 2 แสนบาทแล้ว
1.2 LTF ของเก่า ถือครอง 7 ปีปฏิทิน และต้องลงทุนในหุ้นเท่านั้น แต่ของ SSF จะต้องถือ 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ และลงทุนในอะไรก็ได้ แปลว่า แรงจูงใจที่จะให้คนลงทุนในหุ้นจาก LTF นั้นจะน้อยลงไป แต่ถือว่าเพิ่มทางเลือกให้กับคนทั่วไปให้เลือกซื้อสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยได้
2. RMF แบบใหม่มาแทนที่แบบเก่า โดยเพิ่มเพดานจากลงทุนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท ไปเป็น ลงทุนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท (เพิ่มทางเลือกให้คนทั่วไปสามารถลงเงินไปกับ RMF ได้สูงขึ้น)
3. เงื่อนไขสุดพิเศษที่มีขึ้นมาสำหรับคนมีรายได้สูง คือ เมื่อก่อนกอง LTF กับ RMF ถือว่าต่างกองต่างมีเงื่อนไขต่างกัน เหมือนตะกร้าคนละใบกัน แต่เงื่อนไขใหม่นี้จะมีเพิ่มว่า ถ้าซื้อรวมกันแล้วทั้งหมดก็ห้ามลดหย่อนเกิน 5 แสนบาท (จากที่เมื่อก่อนซื้อ LTF ได้ 5 แสน และ RMF ได้ 5 แสน รวมเป็น 1 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเพดานสำหรับคนรายได้สูงโดยแท้
ผมว่าทางกระทรวงการคลังออกแบบโครงสร้างของ SSF และ RMF มา เพื่อเป็นรอยต่อเปลี่ยนถ่ายจากของเก่ามาเป็นของใหม่ได้อย่างแยบยล แต่ที่เห็นพิเศษมาในครั้งนี้คือ การนำ SSF ไปรวมในวงเงินการลดหย่อนกับ RMF ด้วย ทำให้เพดานของคนรวยที่เคยลดหย่อนได้สูงสุดถึง 1 ล้านบาทต่อปี ลดลงเหลือเพียง 5 แสนบาทต่อปี (จากการคำนวณของผมแล้ว ใครที่เงินเดือนเกิน 1.5 แสนต่อเดือนจะโดนผลกระทบอย่างจัง และจะได้ลดหย่อนภาษีได้น้อยลง)
อนึ่ง ต้องอย่าลืมว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันบำนาญนั้น ก็ถูกรวมอยู่ในตะกร้าเดียวกับ RMF ในเงื่อนไขเดิมอยู่แล้ว ซึ่งหมายถึงว่าใครที่จ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว หรือมีการจ่ายเบี้ยประกันบำนาญทุกปีอยู่แล้ว จะทำให้ไม่มีส่วนเหลือที่จะไปลงใน SSF หรือ RMF เลย (เพราะเพดานตอนนี้ โดนลดมาครึ่งหนึ่ง จาก 1 ล้าน เหลือ 5 แสนบาท)
สำหรับคนที่ถามว่า ถ้าเพดานถูกลดลงมาอย่างนี้แล้ว จะเลือกซื้ออะไรดี ระหว่าง SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, และ ประกันบำนาญ
ถ้าอายุเกิน 45 ปีแล้ว SSF ไม่ควรเลือกครับ เพราะจะต้องถือนานกว่า 10 ปี ในกรณีนี้ RMF ดีกว่าครับ
ถ้าเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น บทความจะถูกลดลงไป เพราะถ้าเปลี่ยนบริษัทก็ต้องทำเรื่องเอกสารย้ายกองตามกันไป และไม่คล่องตัวเท่า RMF
ถ้าประกันบำนาญ ก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะช่วงนี้ดอกเบี้ยขาลง แบบประกันบำนาญยังเป็นเบี้ยเดิมอยู่ อนาคตเบี้ยประกันจะแพงมากขึ้นในอนาคต ตอนนี้สามารถล็อคราคาเบี้ยที่จ่ายตรงนี้ไว้ไปได้อีกหลายปี
แล้วถ้า SSF และ RMF นั้นจะท้าทายกว่าเพราะเลือกเปลี่ยนสินทรัพย์ที่จะลงทุนได้ว่าจะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย แต่ถ้าใครไม่ค่อยอยากไปตามดูว่าในแต่ละช่วงควรสับเปลี่ยนกองอย่างไรบ้าง ก็อาจจะไปมองหาพวกการันตีแบบประกันบำนาญได้เช่นกัน
อนึ่ง ยังดีอยู่ที่ ประกันชีวิต ลดหย่อนได้ 1 แสนบาท เป็นส่วนลดหย่อนที่แยกได้ต่างหากอยู่แล้วครับ ไม่ได้เอามาปนกับ SSF / RMF / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / ประกันบำนาญ แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้ ประกันชีวิตแบบเก่ากำลังยกเลิกและทุกบริษัทกำลังปรับเบี้ยเพิ่มในปีหน้า เนื่องจากดอกเบี้ยขาลงระยะยาว (ลงทุนได้น้อยลง เบี้ยต้องแพงขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา)
" สุดท้ายแล้ว อย่าลืมว่า ใครที่เสียภาษีได้เยอะ ถือว่าเป็นคนโชคดีครับ
ให้เราภูมิใจว่าเรามีรายได้มากพอให้เสียภาษีครับ ^^ "
ขอให้ทุกคน "โชคดี" ครับ
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน ด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตรื Love battle รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิย
และผู้แต่งหนังสือ
- The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
- The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน
- ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
- ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)
Like
Share