ทางออกประเทศไทยของแบบประกันบำนาญ

16 กรกฎาคม 2562

ทางออกประเทศไทยของแบบประกันบำนาญ


ประกันบำนาญเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่ทุกคนควรมีไว้เพื่อช่วยวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ แต่เนื่องจากบริบทของประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่ในอดีต จึงทำให้แบบประกันบำนาญที่เพิ่งเกิดใหม่ไม่นานนี้ มีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง ส่งผลให้แบบประกันบำนาญที่ตกไปถึงมือของผู้บริโภคนั้นยังมีราคาแพงอยู่ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ประชาชนยังไม่ค่อยเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินนี้

กฎเกณฑ์ของแบบประกันชีวิตที่อาจจะไม่เหมาะกับยุคสมัยของแบบประกันบำนาญอีกต่อไปนั้น จึงเป็นเหตุทำให้แบบประกันบำนาญที่ขายอยู่ในประเทศไทยนั้นมีราคาที่สูงโดยไม่จำเป็นอยู่บ้าง เช่น กฎเกณฑ์และกรอบดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิตในปัจจุบันนี้จะครอบคลุมรวมไปถึงประกันบำนาญด้วย เพราะถือว่าเป็นเรื่องของชีวิตคนเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว บริบทและกฎเกณฑ์ในการออกแบบโครงสร้างระหว่างประกันชีวิตกับประกันบำนาญนั้นควรจะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากชนิดของความเสี่ยงที่แตกต่างกัน และระยะเวลาที่ลงทุนก็แตกต่างกันด้วย

 ทางออก

 

ดังนั้น ประเทศไทยควรจะมีกฎเกณฑ์ที่อนุญาตให้บริษัทประกันชีวิตสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนในระยะยาว ทางออกในเรื่องนี้สามารถทำได้ 3 วิธี คือ

a. เนื่องจากแบบประกันบำนาญนั้นจะต้องมีระยะเวลาลงทุนที่ยาวนานเป็นพิเศษ ภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ควรวางแผนออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเป็นพิเศษเฉพาะให้กับแบบประกันบำนาญ เช่น พันธบัตรระยะเวลา 50 ปี เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในตลาด พันธบัตรเหล่านี้ก็เหมือนวัตถุดิบในการผลิตแบบประกันบำนาญออกมาขาย การที่มีพันธบัตรระยะยาวออกมาน้อยย่อมทำให้ต้นทุนของการผลิตมีราคาแพง ทำให้เบี้ยประกันแพงขึ้นโดยไม่จำเป็น

b. จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อวางกฎเกณฑ์ให้กับสินทรัพย์ใหม่ ๆ ที่ออกมาสู่ท้องตลาดซึ่งมีผลตอบแทนดีและมีความเสี่ยงน้อย โดยเฉพาะสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Asset) ที่ไม่ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ว่าจะเป็นกองทุน Life Settlement (กรมธรรม์มือสอง) หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เน้นการลงทุนระยะยาว เป็นต้น ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ของการดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยงไว้รองรับ (ภาษาทางเทคนิค เรียกว่า RBC Risk Charge) ทำให้เหมือนโดนค่าปรับทางอ้อมโดยไม่จำเป็น เช่น ลงทุนหุ้นที่อยู่ตลาดหลักทรัพย์ที่กำหนด จะโดน 25% แต่ถ้าลงทุนในสินทรัพย์บางอย่างที่มีลักษณะเหมือนพันธบัตรหรือเสี่ยงน้อย แต่กลับโดน 50% เพราะไม่เข้ากฎเกณฑ์ของ RBC ที่ตั้งไว้ เป็นต้น

c. เพิ่มทางเลือกของประกันบำนาญให้มีลักษณะเหมือนประกันพ่วงการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกลงทุนได้เองในช่วงที่สะสมเงินก่อนเกษียณ ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นทางเลือกที่ปลดล็อคที่ไม่จำเป็นต้องไปผูกกับพันธบัตรที่ดอกเบี้ยต่ำอีกต่อไป แต่ผู้บริโภคจะเป็นคนเลือกลงทุนเองและต้องรับความเสี่ยงจากการลงทุนไว้เอง แบบประกันนี้ทางภาษาเทคนิคเรียกว่า Variable Annuity โดยจะจ่ายเงินขึ้นลงตามผลประกอบการจากการลงทุน


 

 ภาษี


นอกจากนี้แล้ว ถ้าประเทศไทยสามารถปรับกฎเกณฑ์โครงสร้างด้านภาษีให้เหมาะสมมากขึ้น ก็จะสามารถช่วยให้แบบประกันบำนาญเข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น จากเหตุผลต่อไปนี้


1. เบี้ยประกันบำนาญบางแบบนำมาลดหย่อนภาษีภายใต้กฎเกณฑ์ของสรรพากรไม่ได้ เนื่องจากทางสรรพากรอนุญาตให้แบบประกันบำนาญที่จ่ายเงินบำนาญแบบการันตีไปถึงอายุ 75 ปีเท่านั้น ที่จะนำไปลดหย่อนภาษี 200,000 บาทได้ ทำให้ขัดกับหลักของการประกันบำนาญที่แท้จริงไป

2. ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี วรรค 1 นั้นทำให้บริษัทประกันชีวิตถูกเรียกเก็บภาษีจากแบบประกันบำนาญมากกว่าแบบประกันอื่น ๆ เป็นพิเศษ ทำให้ราคาเบี้ยประกันบำนาญต้องแพงขึ้นเพื่อสะท้อนกับภาษีที่โดนเรียกเก็บมากกว่าแบบประกันอื่น

ในความเป็นจริงแล้ว แบบประกันบำนาญนั้นเป็นทั้งเครื่องมือการออมและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่ชีวิตของเราจะอยู่นานเกินไปแล้วไม่มีเงินใช้จ่ายสำหรับค่าครองชีพและค่ารักษาพยาบาลในยามเกษียณ โดยแบบประกันบำนาญที่ดีนั้น ควรจะจ่ายเงินบำนาญต่อไปเรื่อย ๆ ให้ยาวกว่าอายุขัยเฉลี่ยที่คนปกติในประเทศนั้นมีอยู่มากกว่า 10 – 20 ปี ด้วยซ้ำ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีความหมายในการกระจายความเสี่ยงของผู้บริโภคด้วยวิธีการเฉลี่ยอายุขัยที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยได้ออกแบบไว้

แบบประกันบำนาญนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยในอนาคต ดังนั้น ถึงแม้ว่าแบบประกันบำนาญในปัจจุบันนี้จะมีต้นทุนแฝงและไม่จำเป็นตามที่แจกแจงมาไว้อยู่บ้าง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องมีประกันบำนาญเพื่อวางแผนสำหรับการเกษียณอยู่ ซึ่งทางภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและคงจะมีการปรับกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมมากขึ้นตามบริบทที่ควรจะเป็น และเมื่อนั้นประกันบำนาญจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดแน่นอน

  

ขอขอบคุณอ้างอิง: ประชาชาติธุรกิจ 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)

คอลัมน์คุยฟุ้งเรื่องการเงิน: วันที่ 17 มกราคม 2565



FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย 
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน 
และผู้แต่งหนังสือ 
  • The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  • The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)

บทความที่เกี่ยวข้อง



Like Share

บทความอื่น