การจัดตั้งเงินสำรองสำหรับเลี้ยงดูคนในยามเกษียณ

1 ตุลาคม 2561

การจัดตั้งเงินสำรองสำหรับเลี้ยงดูคนในยามเกษียณ


แนวคิดเรื่อง “ภาษีคนโสด” มีออกมาเพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะปัญหาประชากรสูงอายุที่กำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอเพื่อรองรับกับภาระเลี้ยงดูประชากรวัยเกษียณในอนาคต เพราะวิธีการจัดเก็บและนำเงินภาษีมาใช้นั้นยังเป็นแบบวิธี Pay as you go ซึ่งเป็นวิธีที่ “คนจ่ายภาษีไม่ได้ใช้ แต่คนใช้สวัสดิการจากภาษีนั้นไม่ได้จ่าย” ทำให้ต้องระวังเรื่องสัดส่วนของประชากรวัยทำงานกับวัยเกษียณเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนในยุค baby-boomer ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยเกษียณในอีกไม่ช้า ยังผลให้ประชากรวัยทำงานในขณะนั้นจะต้องแบกรับภาระการเสียภาษีมากกว่ายุคอื่นๆ มากนัก




 Pay as you go (จ่ายและเก็บภาษีตามมีตามเกิด)

ลักษณะการบริหารภาษีแบบนี้จะเป็นลักษณะที่เก็บเงินภาษีเข้ามากองไว้ จากนั้นก็จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไว้บริหารประเทศและงบประมาณอีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณ ซึ่งจุดเด่นของวิธีการบริหารแบบนี้คือเป็นการบริหารแบบ “ปีต่อปี” และถ้าค่าใช้จ่ายในปีไหนที่ไม่น่าจะพอ ก็จะไปเรียกเก็บภาษีเพิ่มเอา แต่ถ้าเรามามองในส่วนของภาระเลี้ยงดูของภาครัฐที่มีให้กับประชากรเมื่อยามเกษียณเท่านั้น มันก็เหมือนกับว่า “รุ่นลูก” ที่เป็นประชากรวัยทำงานกำลังทำงานจ่ายภาษีเพื่อไปเลี้ยง “รุ่นแม่” ที่เป็นประชากรวัยที่เกษียณ เพราะฉะนั้น ภาครัฐจึงเป็นตัวกลางที่ทำให้คนวัยทำงานทำหน้าที่เลี้ยงดูคนวัยสูงอายุ และเมื่อคนวัยทำงานเหล่านี้แก่ตัวลงจนกลายเป็นคนวัยสูงอายุเสียเอง ถึงตอนนั้นก็จะมีเด็กที่กลายมาเป็นคนวัยทำงานเพื่อเลี้ยงดูคนสูงอายุแบบนี้ต่อไปในทุกรุ่นทุกยุคสมัย


วิธี Pay as you go ไม่ได้มีการวางแผนกันเงินสำรองล่วงหน้าแบบระยะยาวเอาไว้ จึงอาจจะเรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า “วิธีการจ่ายและเก็บภาษีกันตามมีตามเกิด” เพราะเป็นวิธีที่บริหารเงินกันเป็นปีต่อปี ซึ่งง่ายกับการจัดการบริหาร โดยจะใช้ได้ดีต่อเมื่อสัดส่วนของประชากรวัยทำงานกับวัยเกษียณนั้นมีค่าคงที่และไม่ผันผวนมากเกินไปนัก

วิธีการอีกแบบหนึ่งที่คำนึงถึงเงินสำรองในระยะยาวเอาไว้นั้นจะเรียกว่าวิธีแบบ Reserving basis โดยจะเป็นวิธีที่ตั้งเงินสำรองไว้สำหรับแต่ละคน หมายความว่าถ้าคนไหนจ่ายสะสมเอาไว้มากก็จะมีการตั้งเงินสำรองไว้มากเพื่อที่จะเก็บไว้ให้คนๆ นั้นในอนาคต ซึ่งก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ให้แต่ละคนออมเงินของตัวเอง

แต่สิ่งที่พิเศษและต่างกับการออมแบบฝากเงินนั้นก็คือ “การตั้งเงินสำรองเพื่อวางแผนสำหรับการเกษียณ” นั้นหมายถึงการเตรียมตัวสำหรับอนาคตที่จำเป็นต้องใช้เงินเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในช่วงเกษียณ ทำให้การตั้งเงินสำรองแบบนี้จำเป็นจะต้องอาศัยหลักการทาง “คณิตศาสตร์ประกันภัย” เข้ามาช่วยคำนวณ ไม่ว่าจะเป็นอัตรามรณะ อัตราการเจ็บป่วย หรืออัตราดอกเบี้ยจากการลงทุน เป็นต้น




Reserving basis (การตั้งเงินสำรองตามหลักทางคณิตศาสตร์ประกันภัย)

ลักษณะการบริหารภาษีแบบนี้จะเป็นลักษณะที่เก็บเงินภาษีจากแต่ละคนเข้ามาและมีการตั้งเงินสำรองเอาไว้ให้สำหรับคนๆ นั้น ซึ่งจุดเด่นของวิธีการบริหารแบบนี้คือเป็นการบริหารแบบมีวางแผนตั้งเงินสำรองล่วงหน้าแบบระยะยาวเอาไว้ ทำให้มั่นใจได้ว่าแต่ละคนจะมีเงินใช้ในยามเกษียณตามที่ได้จ่ายเงินเข้ามาไว้ในช่วงวัยทำงาน แต่สิ่งที่เป็นข้อเสียของวิธีนี้ก็คือการดำเนินงานที่ยุ่งยากและขาดความยืดหยุ่นในการที่รัฐจะนำเงินไปใช้ทำอย่างอื่น


ปัจจัยต่อไปนี้จะมีผลกระทบกับการประมาณการของเงินสำรองที่จะต้องตั้งไว้ในแต่ละปี

1.  อัตรามรณะ เพื่อที่จะประมาณการว่าจะมีคนที่เหลืออยู่กี่คนถึงตอนที่เกษียณ และเมื่ออยู่ถึงยามเกษียณแล้วจะอยู่กันได้นานเท่าไร

2.  อัตราการเจ็บป่วย เพื่อที่จะประมาณค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพว่าจะต้องจ่ายเมื่อไรและเท่าไรในแต่ละปี ตราบใดที่คนๆ นั้นยังมีชีวิตอยู่

3.  อัตราดอกเบี้ยจากการลงทุน เพื่อให้เงินสำรองที่ตั้งขึ้นมาแต่ละปีได้งอกเงย โดยการลงทุนนั้นจะต้องมีการจัดการความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เหมาะสม เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์นั้นเป็นเงินที่จะต้องคืนให้กับคนที่จะเกษียณในอนาคต


เหมือนกัน วิธีการ Reserving basis จึงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการจ่ายบำเหน็จบำนาญที่เป็นสวัสดิการของข้าราชการและพนักงาน หรือผลประโยชน์จากประกันชีวิตและประกันบำนาญ โดยคนจ่ายเงินเข้ามาให้นั้นจะเป็นนายจ้างหรือผู้เอาประกันภัยเองก็ได้

การออมเพื่อยามเกษียณโดยวิธี Reserving basis จึงเป็นวิธีที่สามารถใช้ควบคู่กับวิธี Pay as you go  ได้อย่างแยบยล โดยภาครัฐสามารถกระตุ้นพฤติกรรมของประชาชนได้จากกลไกทางการออมแบบวิธี Reserving basis นี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนทำประกันชีวิตหรือประกันบำนาญเพื่อวางแผนทางการเงินตั้งแต่ต้น

 

ดังนั้น การแก้ปัญหาของวิธี  Pay as you go  โดยไปมีแนวคิดเรื่อง “ภาษีคนโสด” นั้นเป็นเพียงการจะไปแก้ปัญหาระยะสั้นซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ ในทางกลับกัน เราสามารถหันไปส่งเสริมวิธี Reserving basis เช่น “การเพิ่มเพดานค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิตหรือประกันบำนาญ” ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวและมีประสิทธิผลที่ดีกว่า

 

การแก้ปัญหาอย่างบูรณาการนั้นจึงจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศในขณะนี้มากที่สุด !!



โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) มือหนึ่งด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons) 
ผู้เขียนหนังสือขายดี The Top Job Secret ภาค 2 และที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน