พลิกโฉมงบการเงินกับการประเมินสัญญาเช่า ตาม TFRS16

22 มิถุนายน 2563

พลิกโฉมงบการเงินกับการประเมินสัญญาเช่า ตาม TFRS16




  • ตีความสัญญาเช่าแต่ละสัญญา และตั้งสมมติฐานของแต่ละสัญญา เพื่อแปลงเข้าแบบจำลอง TFRS16 ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณานิยามของสัญญาเช่า, อายุของสัญญาเช่า, สิทธิต่างๆ ที่อยู่ในสัญญาเช่า, อัตราค่าเช่าและอัตราค่าเช่าที่ปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต, อัตราดอกเบี้ยตามนัยของสัญญาเช่า (CIR) และ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมส่วนเพิ่มของผู้เช่าในสัญญาเช่า (IBR)
  • คำนวณและประเมิน "สัญญาเช่า (Right of Use)" และ "หนี้สินสัญญาเช่า (Lease Liability)" ของแต่ละสัญญาเช่าพร้อมเซ็นรับรองเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์โดยผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ
  • ให้คำปรึกษาแนวทางการลงบัญชีของสัญญาเช่า ตอบคำถามให้กับผู้บริหารและผู้สอบบัญชีจนเสร็จสิ้นกระบวนการ


"หากต้องการคำปรึกษา สามารถโทรสอบถาม ศุภิชาเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร 087-100-7199

หรือ โทรหา อาจารย์ทอมมี่ ที่ 082-899-7979 ได้โดยตรงเช่นกัน"



มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่า (TFRS16) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ไปแล้ว ซึ่งจะทำให้งบการเงินของ “บริษัทผู้เช่า” เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยเลยทีเดียว (ในทางกลับกัน การบันทึกบัญชีสำหรับผู้ให้เช่านั้น จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ)


ภายใต้ TFRS16 ได้มีการกำหนดหลักการใหม่ (มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจาก TAS17) ให้ผู้เช่าต้องรับรู้ภาระผูกพันที่เกิดจากสัญญาเช่าเข้ามาในงบการเงิน โดยที่ผู้เช่าไม่จำเป็นต้องทำการจัดประเภทของสัญญาเช่าว่าต้องเป็นสัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease) หรือ สัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) อีกต่อไป แต่ TFRS16 นั้น จะให้ผู้เช่ารับรู้สิทธิในการใช้ทรัพย์สินพร้อมกับรับรู้หนี้สิน ตลอดระยะเวลาของสัญญาเช่า รวมถึงต้องมีการตีความระยะเวลาที่ผู้เช่ามีสิทธิที่จะเลือกต่ออายุสัญญาเช่า และต้องใช้ดุลยพินิจประกอบกับสมมติฐานว่าเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลว่าผู้เช่าจะใช้สิทธิอย่างไร


ดังนั้น ภายใต้หลักการใหม่ดังกล่าว ทำให้ส่งผลกระทบกับตัวเลขในงบการเงินของ “ผู้เช่า” อย่างมีสาระสำคัญ และทำให้การประเมินเกิดความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการหาอัตราคิดลดที่เหมาะสมเพื่อนำไปใช้ในโมเดลการคำนวณ TFRS16  ข้อยกเว้น ของ TFRS16 ที่ไม่ต้องคำนวณ คือ ถ้าสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าระยะสั้นซึ่งมีอายุไม่เกิน 12 เดือน หรือ เป็นสัญญาเช่าที่สินทรัพย์อ้างอิงมีมูลค่าต่ำกว่า 5 พันเหรียญสหรัฐ (ราวๆ 150,000 บาท) ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งรับรู้สิทธิในการใช้ทรัพย์สิน และไม่ต้องตั้งรับรู้หนี้สิน

 

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างไร ?


พราะเมื่อสมัยก่อน ผู้เช่าสามารถจะจำแนกประเภทของสัญญาเช่า เป็น 2 ประเภท คือ สัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease) และ สัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) ซึ่งข้อได้เปรียบของการจัดประเภทสัญญาเช่าให้เป็นสัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) ก็คือ ค่าเช่าที่ชำระเป็นงวดนั้นจะถือเป็นค่าใช้จ่ายในงวดนั้นไป โดยที่ไม่ต้องมาตั้งรับรู้เป็นสินทรัพย์หรือหนี้สินในงบการเงิน ทำให้การคำนวณอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ดูดีกว่า การจำแนกสัญญาเช่าให้เป็นสัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease)


จะเห็นว่าผลกระทบที่มีต่องบการเงิน จะส่งผลถึงการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ เนื่องจาก ถ้าถูกตีความตาม TFRS16 ว่าเป็นสัญญาเช่าแล้ว เกือบทุกสัญญา ใน TFRS16 จะต้องรับรู้สิทธิในการใช้ทรัพย์สิน (ROU) เป็นสินทรัพย์ในงบการเงิน และรับรู้หนี้สินจากภาระผูกพันที่เกิดจากค่าเช่า (Lease Liability) ในอนาคตดังกล่าวเข้ามาในงบการเงิน นอกจากกระทบกับงบดุลแล้ว TFRS16 ยังจะส่งผลกระทบกับงบกำไรขาดทุนอีกด้วย เพราะการจัดทำงบการเงินตาม TFRS16 ทำให้บริษัทต้องรายงาน “สัญญาเช่าดำเนินงาน” มาแสดงในงบการเงินทันที ที่มีการลงนามสัญญาเช่า ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ลดลง และอัตราหนี้สินต่อทรัยพ์สิน (D/E) เพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ตาม สำหรับ “ผู้ให้เช่า” นั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อการลงบัญชี โดยผู้ให้เช่าต้องจัดประเภทสัญญาเช่า เป็นสัญญาเช่าดำเนินงาน หรือสัญญาเช่าการเงินและบันทึกบัญชีสำหรับสัญญาเช่าทั้ง 2 ประเภทนี้อย่างแตกต่างกัน ถึงแม้ว่า หลักการบัญชีผู้ให้เช่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ แต่การเปลี่ยนแปลงหลักการบางเรื่อง ภายใต้ TFRS16 ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้เช่าคือ หลักการเรื่องการเช่าช่วงและการขาย และการเช่ากลับคืน ผู้ให้เช่าต้องมีการพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยเช่นกัน


 

สรุปสิ่งที่ต้องทำสำหรับ TFRS16 ในมุมของ “ผู้เช่า”

  • ตีความสัญญาเช่าแต่ละสัญญา และตั้งสมมติฐานของแต่ละสัญญา เพื่อปรับเข้าแบบจำลองในการคำนวณ TFRS16 ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณา นิยามของสัญญาเช่าอายุสัญญาเช่าสิทธิต่าง ๆ ที่อยู่ในสัญญาเช่าอัตราค่าเช่าและอัตราค่าเช่าที่ปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตอัตราดอกเบี้ยตามนัยของสัญญาเช่า (CIR) และ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมส่วนเพิ่มของผู้เช่าในสัญญาเช่า (IBR)
  • คำนวณและประเมิน “สิทธิของสัญญาเช่า (Right of Use)” และ “หนี้สินสัญญาเช่า (Lease Liability)” ของแต่ละสัญญาเช่า ในฐานะของผู้เช่า
  • ศึกษาแนวทางการลงบัญชีของสัญญาเช่า เช่น ในงบแสดงฐานะการเงิน สัญญาเช่าแทบทุกสัญญา (ยกเว้นสัญญาเช่าระยะสั้น และ ยกเว้นสัญญาเช่าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5 พันเหรียญสหรัฐ) จะถูกจัดเข้ามาในงบการเงินทั้งหมด ทำให้ต้องรับรู้สินทรัพย์และหนี้สินตามสัญญาเช่าด้วย ส่วนงบกำไรขาดทุน ต้องรับรู้ค่าเสื่อมราคา (ปกติตามวิธีเส้นตรง) และดอกเบี้ย (ตามวิธีลดต้นลดดอก) ทำให้ช่วงปีแรกๆ ของการทำสัญญาเช่า ผู้เช่าจะสามารถลงเป็นค่าใช้จ่ายมากขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยมาก ในทางกลับกัน ผู้เช่าจะลงบัญชีรับรู้ค่าใช้จ่ายน้อยในช่วงปีท้ายของสัญญาเช่าเนื่องจากดอกเบี้ยน้อยในช่วงท้ายของสัญญาเช่า เป็นต้น



โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่ 

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)

นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย 
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน 
และผู้แต่งหนังสือ 
  • The Top job Secret ภาค 1 - อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก 
  • The Top job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)