ระยะเวลามีผลกับอัตราดอกเบี้ยจากพันธบัตรจริงหรือ?

30 สิงหาคม 2562

หลายคนคงจะรู้จักกับคำว่าดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ หรือดอกเบี้ยจากการลงทุน โดยภาษาอังกฤษเราจะเรียกว่า interest rate แต่ก็มีอีกคำศัพท์หนึ่งที่เป็นภาษานักการเงินซึ่งจะเรียกอัตราดอกเบี้ยนี้ว่า อัตราผลตอบแทน หรือที่เราอาจจะได้ยินว่า yield อยู่บ่อยๆ

ถ้าเราเอาเงินไปฝากเป็นเงินฝากระยะสั้น ก็จะได้ อัตราผลตอบแทน (yield) แบบหนึ่ง แต่ถ้าเอาไปลงทุนในพันธบัตรก็อาจจะได้ อัตราผลตอบแทน (yield) อีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราก็จะเห็นว่ามี อัตราผลตอบแทน (yield) ที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับระยะเวลาในการลงทุน

ถ้าเราเอาอัตราผลตอบแทน (yield) มาพล็อตเป็นกราฟ โดยแกนตั้งให้เป็นดอกเบี้ย (%) ที่ได้ และแกนนอนให้เป็นระยะเวลาของการลงทุน เราก็จะได้เส้นกราฟเส้นหนึ่งที่เรียกว่า Yield Curve หรือ กราฟอัตราผลตอบแทนในแต่ละระยะเวลา เช่น ถ้าลงทุน 1 ปี จะได้ interest rate 5% ต่อปี ในขณะที่ถ้าลงทุนในระยะเวลา 10 ปี (ลงทุนตอนนี้ รอเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยใน 10 ปีข้างหน้า) ก็จะได้ interest rate 7% ต่อปี ซึ่งกราฟนี้จะทำให้เรารู้ว่าในแต่ละระยะเวลาการลงทุน (time horizon) นั้น นักลงทุนจะได้อัตราผลตอบแทน (yield) จากการลงทุนเท่าไร

Yield Curve จึงเป็นเส้นที่สะท้อนโครงสร้างของอัตราผลตอบแทน (Term Structure) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทน (Yield) กับอายุคงเหลือของพันธบัตร (Tenor) 

บางคนคงมีคำถามในใจว่า “แล้วระยะเวลาของพันธบัตร จะเกี่ยวอะไรกับ อัตราผลตอบแทนล่ะ” ตรงนี้มีคำตอบให้ครับ
1. liquidity premium ถ้าเราเลือกที่จะลงทุนระยะยาว เราก็จะไม่ได้เงินมาใช้ยามที่ต้องการ (เสียสภาพคล่องทางการเงิน) เมื่อเทียบกับการลงทุนระยะสั้น ยกตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่ต้องการอัตราผลตอบแทนในพันธบัตร 10 ปี สูงกว่าอัตราผลตอบแทนในพันธบัตร 1 ปี)






2. demand/supply ถ้ามีคนอยากลงทุนระยะยาวมากๆ อัตราผลตอบแทนในการลงทุนระยะยาวก็จะไม่สูง เนื่องจากมีคนมาแย่งซื้อกันมาก ราคาของพันธบัตรในระยะเวลายาวๆ ก็อาจจะแพง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทประกันชีวิตจะมีหนี้สินยาวมากๆ แล้วต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อที่จะจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของดอกเบี้ย (asset liability management) แต่รัฐบาลปกติแล้วจะไม่ได้ออกพันธบัตรระยะเวลา 20 - 30 ปี เท่ากับความต้องการที่บริษัทประกันชีวิตจะซื้อ จึงจะเห็นได้ว่า demand สูง supply ต่ำ ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยจะน้อยแค่ไหน บริษัทเหล่านี้ก็อยากจะลงทุนในพันธบัตรระยะยาวอยู่ดีเพื่อความเหมาะสมของธุรกิจที่มีลักษณะของหนี้สินระยะยาว




3. expectation of forward rate ถ้าคนส่วนมากคิดว่า การลงทุนในปีข้างหน้าจะดีขึ้น yield curve ก็จะชันขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าคิดว่าแย่ลง yield curve ก็จะถูกกดลง หรือชันน้องลง


ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการวิเคราะห์ พันธบัตรระยะเวลา 10 ปี เราจะเห็นว่าผลตอบแทนของพันธบัตร 10 ปี จะสูงหรือต่ำกว่าผลตอบแทนของพันธบัตร 1 ปี ก็ตรงที่ ความคาดหวังในตลาดในอนาคต (ตัวนี้จะสะท้อนว่าเศรษฐกิจจะดีหรือจะแย่ในอนาคต) สภาพคล่องที่ต้องเอาเงินมาจม (ก็เลยหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น) และ Demand/supply ในการลงทุนตัวนั้นๆ (บริษัทประกันชีวิตมีความต้องการลงทุนในระยะยาว ในขณะที่รัฐบาลก็เอาพันธบัตรออกมาขายน้อยเหลือเกิน)

สรุปคือ ระยะเวลาของพันธบัตรนั้น มีผลกับอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทน เช่น ยิ่งระยะเวลานาน ยิ่งคาดหวังว่าควรจะมีดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพราะเงินจม จึงทำให้ดอกเบี้ยผลตอบแทนจากพันธบัตรระยะยาวมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าพันธบัตรระยะสั้น แต่ก็มีอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งค้านกับเหตุผลแรก คือ ยิ่งระยะเวลานาน ยิ่งมีสถาบันการเงินใหญ่ๆ เช่นบริษัทประกันชีวิตเข้ามากว้านซื้อ จึงทำให้ราคาพันธบัตรระยะยาวมีแนวโน้มที่จะแพงและดอกเบี้ยต่ำกว่าพันธบัตรระยะสั้น และก็มีเหตุผลสุดท้ายที่บอกว่าพันธบัตรระยะยาวมันจะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าหรือต่ำกว่าก็ขึ้นกับภาวะของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง 

จะเห็นว่า เหตุผลแรกกับเหตุผลที่สองนั้นอาจจะหักล้างกันเอง ขึ้นกับว่าเหตุการณ์ไหนจะมีผลกระทบมากกว่า ส่วนเหตุผลสุดท้ายนั้นคือความคาดหวังของตลาดว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร และนั่นจึงเป็นที่มาของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยการทำนายเศรษฐกิจในอนาคตจากความสัมพันธ์ของอัตราดอกเบี้ยจากพันธบัตรระยะยาวกับพันธบัตรระยะสั้น หรือจาก Yield Curve นี้นี่เอง

ภาพประกอบ เหตุผลที่หนึ่ง (เป็นกราฟที่ชันขึ้น)
ภาพประกอบ เหตุผลที่สอง (เป็นกราฟที่ชันน้อยลง)
ภาพประกอบ เหตุผลที่สาม (เป็นกราฟที่เป็นเส้นปะ สองเส้น เส้นหนึ่งวิ่งขึ้น เส้นหนึ่งวิ่งลง) 



FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย 
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน
และผู้แต่งหนังสือ 
  • The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  • The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)