ผลประโยชน์พนักงาน ต้นทุนแฝงที่รู้เมื่อสายเกินแก้

12 มกราคม 2564

ผลประโยชน์พนักงาน ต้นทุนแฝงที่รู้เมื่อสายเกินแก้

 

ขึ้นชื่อว่าผลประโยชน์พนักงานนั้นทุกคนก็คิดว่ามันคือ เงินเดือนกับสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโบนัสวันหยุดพักผ่อน ค่าบ้าน ค่าน้ำมันรถหรือแม้แต่ค่ารักษาพยาบาล แต่จริง ๆ แล้ว ผลประโยชน์พนักงานนั้นยังรวมถึงผลประโยชน์เมื่อเลิกจ้างและผลประโยชน์หลังออกจากงานอีกด้วย

 

ผลประโยชน์เมื่อเลิกจ้าง คือเงินชดเชยเมื่อไล่พนักงานออก ส่วนผลประโยชน์หลังออกจากงาน คือ เงินชดเชยในยามที่พนักงานเกษียณไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเงินก้อน และอย่างน้อยทุกบริษัทก็ต้องมีการจ่ายตามกฎหมายแรงงาน หรือกฎหมายรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์


ในมุมของนายจ้างก็จะมองว่าผลประโยชน์เมื่อเลิกจ้างและผลประโยชน์หลังออกจากงานเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว บางแห่งคิดว่าไว้เรื่องเกิดก่อนแล้วค่อยหาเงินมาจ่ายให้ก็ได้

การตั้งเงินชดเชยยามที่พนักงานเกษียณ

แต่ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ เราจะเริ่มได้ยินข่าวบริษัทปลดพนักงานออกหรือให้พนักงานเกษียณก่อนกำหนดมากขึ้น และเมื่อล่าสุดก็มีข่าวที่องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) เลิกจ้างพนักงานจำนวน 961 คน (จากพนักงานทั้งหมด 1,035 คน) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ซึ่งพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โดยสาเหตุที่มีการเลิกจ้างพนักงานในครั้งนี้ เนื่องจากองค์การค้าฯขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี และเป็นหนี้สะสมรวมแล้วขณะนี้กว่า 6,700 ล้านบาท เฉพาะจ่ายเงินเดือนพนักงานก็ตกเดือนละประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งอาจจะติดหนี้สะสมถึงหมื่นล้านบาทได้ถ้าไม่ปลดพนักงานออก


ในต่างประเทศก็เคยมีเหตุการณ์คล้าย ๆ แบบนี้แล้ว เป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากผลประโยชน์พนักงาน ซึ่งเป็นข่าวว่ากิจการต้องล้มละลายโด่งดังไปทั่วโลก นั่นคือ บริษัท General Motors หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า GM


สถานการณ์ของ GM คือในช่วงปีท้าย ๆ ก่อนล้มละลายนั้น บริษัทขาดทุนติดกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของการล้มละลายนั้นคือเรื่องผลประโยชน์พนักงาน !

 

GM มีเงินสำรองสำหรับผลประโยชน์พนักงานน้อยกว่าที่ควรจะเป็นไป 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นประมาณ 20% ของเงินที่ควรจะเป็น ทำให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายผลประโยชน์ กลายเป็นว่ากำไรที่ได้มาในแต่ละปี ไม่เพียงพอต่อการจ่ายผลประโยชน์พนักงาน

 

และเมื่อ GM ล้มละลาย ก็เกิดปรากฏการณ์โดมิโน ทำให้เมืองดีทรอยต์ (Detroit) ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกาล้มละลายด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อคนในเมืองตกงาน ภาษีที่เก็บได้ก็น้อยลงตามไปด้วย ประกอบกับมีการตั้งเงินสำรองสำหรับหนี้สินผลประโยชน์พนักงานน้อยเกินไป โดยสำรองไว้แค่ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่ความจริงแล้วควรสำรองไว้ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนั่นหมายความว่า หนี้สินของเมืองดีทรอยต์เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าในชั่วข้ามคืน

 

จะเห็นว่า ผลประโยชน์พนักงานเมื่อเลิกจ้างและหลังออกจากงานนั้นเป็นต้นทุนแฝงที่กว่าจะรู้ก็สายเกินแก้เสียแล้ว

การตั้งเงินสำรองสำหรับผลประโยชน์พนักงานที่คนมักจะมองข้าม

ผลประโยชน์พนักงานที่เป็นต้นทุนแฝงเหล่านี้ มีอยู่ทุกองค์กร ทุกยุคสมัย ที่ลูกจ้างจะต้องได้รับความเป็นธรรมอย่างเหมาะสม และนายจ้างจะต้องพึงระวังไว้ ทุกวันนี้หลายองค์กรยังไม่ทราบต้นทุนที่แท้จริงที่แฝงอยู่ตามส่วนงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของผลประโยชน์พนักงานจะต้องประเมินอนาคตล่วงหน้าให้ได้อย่างเหมาะสม และอาศัยข้อมูลทางสถิติ และเศรษฐศาสตร์เพื่อมาตั้งเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับพนักงานแต่ละคนให้ถูกต้อง ซึ่งบางองค์กรไม่ได้ตั้งรับรู้ค่าใช้จ่ายของต้นทุนแฝงจากการเลิกจ้างหรือจากการเกษียณ ทำให้กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติออกรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2563 ระบุอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.03 มี ผู้ว่างงานเกือบ 4 แสนคน และคาดว่าในปี 2563 นี้จะมีแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง8.4 ล้านคน โดยแบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม คือ

 

1.    แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน จะได้รับผลกระทบประมาณ 2.5 ล้านคน

2.    แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน

3.    การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว คาดว่าได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน

 

นายจ้างหรือบริษัททั่วไปจึงควรที่จะหันมาจริงจังกับการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายสำหรับต้นทุนแฝงเหล่านี้ให้ถูกต้องและเพียงพอเหมาะสม เพราะจะทำให้บริษัทได้เห็นสัญญาณเตือนภัยก่อนล่วงหน้าว่าความสามารถในการทำกำไร และอยู่รอดได้อย่างแท้จริงเป็นอย่างไร จะได้ป้องกันการล้มละลายได้ล่วงหน้า

 

ไม่มีใครรู้หรอกว่า บริษัทกำลังทำกำไรได้อยู่จริงหรือ หรือที่จริงแล้วกำไรที่เห็นอยู่นั้นอาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา ที่ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนแฝงเหล่านี้ไว้ มีแต่เพียงหน่วยงานกำกับตรวจสอบเท่านั้นที่จะเจาะประเด็นเข้าไปค้นหาความจริง เพื่อป้องกันอนาคตอันเลวร้ายไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก !


นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย 

อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย

อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน 

และผู้แต่งหนังสือ

  • The Top job Secret ภาค 1 - อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก

  • The Top job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน

  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)

  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)





Like Share

บทความอื่น