หาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

13 มกราคม 2564

หาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้


ถ้าเราตัดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งหมดออกไป สิ่งที่เหลืออยู่ไม่ว่ามันจะดูเหลือเชื่อเพียงใด แต่มันก็เป็นความจริง”

ประโยคนี้เป็นประโยคที่ผมชอบมาก เพราะมันใช้กับชีวิตประจำวันได้หลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมมุติฐานแบบเศรษฐศาสตร์ การคิดนอกกรอบ การวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจหรือแม้แต่สิ่งที่เราคุ้นเคยกันในสมัยเรียนหนังสือ นั่นคือการทำข้อสอบที่ตัดตัวเลือกออก

ประโยคนี้ผมเจอครั้งแรกจาก เชอร์ล็อกโฮมส์” แต่ระยะหลัง ๆ นั้นคุ้นหูจากการ์ตูนนักสืบเรื่อง โคนัน” เสียมากกว่าครับ ดังนั้น ถ้าคิดดูให้ดี ๆ แล้วสิ่งที่เชอร์ล็อกโฮมส์และโคนันทำก็คือ การตัดตัวเลือกที่เป็นไปไม่ได้ทิ้งทีละตัวอย่างมีหลักการและเหตุผลถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้มีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ในเรื่องของทฤษฎีความน่าจะเป็นอย่างที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลต้องมี แต่เขาก็สามารถวิเคราะห์หาเหตุผลเชิงลึกมาสนับสนุนสมมุติฐานของเขาเพื่อที่จะคงเหลือไว้เพียงตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งนั่นก็คือข้อเท็จจริงนั่นเอง

งานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

งานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลก็เช่นกันที่ต้องคอยหาข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ ต้องมีการตั้งข้อสังเกตจากตัวเลขในอดีตที่เกิดขึ้น และเรียงลำดับเหตุการณ์ให้เป็นเรื่องราวขึ้นมา ซึ่งก็หมายความว่าหน้าที่หลักของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล คือการ ตีความตัวเลข” ซึ่งถ้าไม่มีจำนวนข้อมูลที่ดีเพียงพอก็อาจทำให้การตีความคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น เราจึงต้องมีประสบการณ์ในการใช้วิจารณญาณเพื่อไม่ให้โดนข้อมูลหลอกเอาได้ และในการนั้นจึงทำให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลต้องเพิ่มพูนความรู้อยู่ตลอดเวลาและติดตามข่าวสารให้ทันเหตุการณ์อยู่สม่ำเสมอ

เริ่มที่การเก็บข้อมูล จากนั้นก็นำมาหารูปแบบของข้อมูลเพื่อแปลงมาให้เป็นสถิติ และใช้สถิติเหล่านี้ในการตั้งสมมุติฐานว่ามันน่าจะเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งเราก็จะนำสมมุติฐานที่คิดไว้ประกอบกับข้อมูลปัจจุบันมารวมกันเพื่อจำลองรูปแบบของอนาคตว่าจะมีอะไรได้บ้างผ่านตัวกลางแบบจำลองหรือโมเดลของเราที่สร้างขึ้นมารองรับเรื่องนั้น ๆ โดยเฉพาะ

เมื่อทำได้แบบนี้แล้วจึงค่อยประมวลผลออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ “ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว”แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่าการตีความตัวเลขก็คือ การสื่อสารสิ่งที่ตีความไปแล้วนั้นให้กับผู้บริหารหรือผู้ประกอบการได้เข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบันและตระหนักถึงสถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า เรียกว่าเป็นการแปลงตัวเลขให้เป็นตัวโน้ตที่พร้อมจะบรรเลงท่วงทำนองให้คนรอบข้างได้ฟังและรู้สึกสบายใจที่ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นน่าจะดีกว่า

เชอร์ล็อกโฮมส์กับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

ในความเป็นจริงแล้วเชอร์ล็อกโฮมส์นั้นเป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งในนวนิยายที่แต่งขึ้นโดย “อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์” เท่านั้น ส่วนการ์ตูนเรื่อง โคนัน” นั้นก็คงเอามาจากชื่อนักแต่งนวนิยายเรื่องนี้อีกที

ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่มีในตัวละครตัวนี้เป็นสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะความเป็นมืออาชีพเฉพาะทางด้านข้อมูลนั้นจำเป็นจะต้องมีสิ่งที่ตัวเชอร์ล็อกโฮมส์มีจึงจะประสบความสำเร็จได้ และถ้าเรานำเชอร์ล็อกโฮมส์ออกมาโลดแล่นในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งก็คือโลกธุรกิจที่นับวันก็ยิ่งต้องอาศัยความรอบคอบในการตัดสินใจแล้วก็คงจะไม่พ้นงานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่คอยเป็นเบื้องหลังให้กับกลยุทธ์ต่าง ๆ ในวงการธุรกิจ

มันสำคัญตรงที่ว่าเราใช้หลักการอะไร ทำอะไร และทำไปทำไมอยู่ต่างหาก ชีวิตจริงไม่เคยมีศาสตร์เดียวให้เรียนรู้อยู่แล้วครับ มันอยู่ที่การประยุกต์ใช้ต่างหาก ซึ่งถ้ามาวิเคราะห์กันดูแล้วอาชีพนั้นมันก็เปรียบเหมือนจานเปล่า แต่สิ่งที่ต้องใส่ลงไปในจานใบนั้นก็คือ ความฝันว่าอยากทำอะไรแบบไหนบนจานใบนั้น

ดังนั้น สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ได้ความรู้นั้นมาจากใคร หรือทำอาชีพอะไร แต่อยู่ที่การนำความรู้นั้นมาใช้มากกว่า

ถ้าใครผู้นั้นทำได้ นั่นจึงจะเป็นเชอร์ล็อกโฮมส์ในโลกธุรกิจได้อย่างแท้จริง…



โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยคุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่ FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)

นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย 

อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย

อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน 

และผู้แต่งหนังสือ

  • The Top job Secret ภาค 1 - อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  • The Top job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)

บทความที่เกี่ยวข้อง