ปราการบริหารความเสี่ยงที่ 2 – ประเมินสมมติฐานและปัจจัยเสี่ยงในอนาคตต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาที่ทำการคุ้มครอง คอยระวังว่าสถิติบางอย่างก็ไม่สามารถเอามาใช้กับสถานการณ์ในอนาคตได้ เช่น วิวัฒนาการของไวรัส วัคซีน ยา ความเพียงพอของเตียงในโรงพยาบาล หรือ แม้แต่นโยบายของภาครัฐจากการให้กักตัวหรือล็อคดาวน์ เป็นต้น
ปราการบริหารความเสี่ยงที่ 3 – พิจารณารับประกัน ไม่ให้ทุนประกันสูงเกินกว่าค่าความเสียหายที่จะได้รับ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการจูงใจให้คนไปเจาะจงทำตัวเองให้เสียหายเพื่อเอากำไร ซึ่งจะผิดหลักการประกันภัยได้ ทั้งนี้ ควรพิจารณาถึงการที่ไม่ให้ทุนประกันสูงเกินกว่ารายได้ที่จะได้รับจนเกินไป เช่น ทุนประกัน 1 แสน แต่เงินเดือน 1 หมื่น เป็นต้น
ปราการบริหารความเสี่ยงที่ 4 – บริษัทประกันก็เหมือนการขายปลีกให้คนทั่วไป ส่วนบริษัทประกันภัยต่อก็เหมือนกับรับซื้อประกันต่อจากบริษัทประกันอีกทีหนึ่ง เหมือนการขายส่ง บริษัทประกันที่เป็นเหมือนร้านขายปลีกจึงต้องมีกลยุทธ์ในการประกันภัยต่อที่จะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายในการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกัน เช่น สถานการณ์โควิดในระยะหลังนั้น บริษัทประกันภัยต่อส่วนใหญ่จะไม่เอาด้วย เพราะเป็นความเสี่ยงที่ประเมินไม่ได้ แต่ถ้าบางบริษัทประกันอยากไปต่อ ก็อาจจะแบกรับความเสี่ยงไว้อยู่ฝ่ายเดียว เป็นต้น
ปราการบริหารความเสี่ยงที่ 5 – วางแผนการขายและไม่ขายเกินตัว เช่น ในช่วงปี 2551 ที่อเมริกาจุดประกายให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีการขายจนเกินตัว และเมื่อมีบางตัวแปรที่เปลี่ยนไป ก็เกิดความเสียหายแบบลูกโซ่ขึ้น บริษัทประกันก็เช่นเดียวกัน ที่จำเป็นที่ต้องมีการจำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้รู้ลิมิตของตัวเอง แบบที่ธนาคารทำกันทั่วไป เป็นต้น ทั้งนี้ ในการซื้อขายผ่านออนไลน์นั้น มีโอกาสสูงที่ทุกคนพร้อมใจกันซื้อในระยะเวลาสั้นๆ และบริษัทไม่ได้ตั้งกลไกในการรองรับการหยุดรับเอาไว้ ทำให้ขายเกินตัวไปโดยที่ไม่ได้ตั้งใจก็เป็นได้
ปราการบริหารความเสี่ยงที่ 6 – การบริหารและดูแลช่องทางการจัดจำหน่ายให้บริหารความคาดหวังของผู้เอาประกัน เช่น ให้กรอกใบสมัครตามความเป็นจริง สื่อสารทำความเข้าใจ รวมถึงบริหารความคาดหวังของผู้ซื้อผ่านช่องทางการเสนอขายของบริษัท โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัลที่ลูกค้าสามารถสมัครซื้อผ่านทางออนไลน์ได้ ทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนไปบริหารผ่านระบบออนไลน์ในการบริหารความคาดหวังของผู้ซื้อไปด้วย
ปราการบริหารความเสี่ยงที่ 7 – ความสามารถในการปรับเปลี่ยนเบี้ยประกัน การต่ออายุกรมธรรม์ หรือสิทธิ์ในการยกเลิกกรมธรรม์ของแบบประกันในบางกรณี ที่เหมือนเซฟทีคัต เวลาไฟฟ้าลัดวงจร ทั้งนี้การสื่อสารทำความเข้าใจในตัวกรมธรรม์ประกันภัยก็เป็นสิ่งจำเป็นที่บริษัทประกันใช้บริหารความคาดหวังของผู้บริโภค สร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นธรรมกันทั้งสองฝ่าย
ในมุมของหลักวิชาการแล้ว นักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็เปรียบเหมือนต้นหนของบริษัทประกัน คอยประเมินความเสี่ยงไปข้างหน้า และให้คำแนะนำกัปตันเรือ ในการตัดสินใจว่าจะไปทางไหน ซึ่งในฝั่งของประกันชีวิตนั้นเป็นข้อบังคับที่จะต้องให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเซ็นรับรองแบบประกันและรับผิดชอบประเมินความเสี่ยงตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยก่อนที่จะออกขาย (เหมือนวิศวโยธาที่ต้องเซ็นแบบตึกก่อนที่จะอนุมัติสร้างได้) เพราะสัญญาประกันชีวิตถูกมองว่าเป็นสัญญาระยะยาว
ส่วนในฝั่งประกันวินาศภัยนั้นอาจมีคนมองว่าเป็นการประกันแบบระยะสั้น (ถ้าเบี้ยประกันไม่พอก็จะเพิ่มเบี้ยในปีถัดไปได้) ทำให้บทบาทที่ผ่านมาของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในฝากประกันวินาศภัยถูกเน้นอยู่ที่การตั้งเงินสำรองเพียงอย่างเดียว แต่หลังจากนี้เราน่าจะได้เห็นบทบาทของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ไปเป็นฟันเฟืองให้กับฝั่งประกันวินาศภัยกันได้มากขึ้น เพราะเรือที่มีต้นหนจะเป็นเรือที่มองเห็นหินโสโครก พายุ กระแสน้ำวน เพื่อที่จะวางแผนเส้นทางการเดินเรือที่พาทุกคนทั้งระบบไปถึงจุดมุ่งหมายด้วยกันอย่างมั่นใจและปลอดภัย