ทำนายลอตเตอรี่กับคณิตศาสตร์ประกันภัย

6 เมษายน 2564

ทำนายลอตเตอรี่กับคณิตศาสตร์ประกันภัย

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นได้ถูกก่อกำเนิดมาจากคนที่อยากใช้หลักการนี้มาประเมินและคำนวณสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้า ซึ่งหนึ่งในสถานการณ์ที่ทุกคนอยากรู้กันก็คือว่าผลลัพธ์นั้นจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นผลชนะของฟุตบอล ของม้าแข่ง ของเกมโชว์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งของรางวัลลอตเตอรี่ที่จะออกมา


ซึ่งหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยนี้เราจะอาศัยทฤษฎีที่เรียกว่า “ทฤษฎีความน่าจะเป็น” ซึ่งก็หมายถึงการคาดคะเนผลลัพธ์ว่ามันน่าจะเป็นอะไรออกมาได้บ้าง และมี “โอกาส” อยู่เท่าไร ด้วยเงื่อนไขหรือบริบทอะไรบ้างที่จะเป็นไปตามผลลัพธ์นั้นๆ


ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่มีคำว่า “โอกาส” เมื่อนั้น ก็สามารถอาศัยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ว่านี้เข้ามาคำนวณและประเมินโอกาสนั้นให้ออกมาเป็นตัวเลขได้ โดยหลักแล้วทุกอย่างที่นำมาประเมินโอกาส คือ ตัวเลขสุ่มขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาไปประเมินโอกาสของอะไร


ในแง่ของคนเสี่ยงโชค สิ่งที่ควรต้องรู้ คือ การพนัน (Gamble) จะออกแบบให้มี “มูลค่าของค่าคาดหวัง (Expected Value) จากการถูกรางวัล” น้อยกว่า “ค่าเฉลี่ยของเงินพนันที่ผู้พนันจ่ายไปทั้งหมด” เพื่อที่จะทำให้ผู้รับพนันหรือเจ้ามือยังมีกำไรอยู่ แต่สิ่งที่ผู้พนันได้ซื้อไป คือ การได้ลุ้นและหวังที่จะได้รางวัล เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า พวกชอบเสี่ยง (Risk Taker) หรือพวกที่เป็นนักแสวงโชค


ดังนั้นการเล่นหวยหรือเล่นพนันนั้น คนแทงไม่เคย “คุ้ม” ในมุมของคณิตศาสตร์ประกันภัยและหลักการเงิน แต่สิ่งที่คนแทงหรือคนซื้อคือความฝันและการได้ลุ้นในแต่ละครั้ง และถ้าต้องการแทงให้เข้าเป้าก็รวมเงินกันซื้อและซื้อเยอะหน่อย


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือคนที่ซื้อสลากออมสินเป็นปึก ก็จะมีโอกาสถูกเลขรางวัลอยู่เสมอหรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือให้คน 100 คน แทงเลข 100 ตัว โดยเลขไม่ซ้ำกันแล้วรับรองถูกเป้าแน่นอน แต่อันนั้นก็ไม่ได้เกิดการลุ้นขึ้นมาแล้ว


ตัวอย่าง ในการคำนวณต้นทุนรางวัลเลขท้าย 2 ตัว ของสลากกินแบ่งรัฐบาล คือ ถ้าเราบอกว่า การแทงถูกงวดนี้ จะให้เงิน 2,000 บาท โดยถ้ามีโอกาสของเลขท้าย 2 ตัว คือ 1 ใน 100 แล้ว ต้นทุนของเกมครั้งนี้จะเป็น 20 บาท ซึ่งคือ 1% ของ 2,000 บาท ดังนั้นจะเห็นว่าเจ้ามือจะต้องคำนวณต้นทุนเฉลี่ยให้ได้เสียก่อน และจะไม่มีวันขาดทุนอย่างแน่นอนเพราะต้นทุนและราคาทุกอย่างได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว


ในฐานะที่ผมเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยและนักวิศวกรรมการเงินนั้น ผมอยากจะบอกว่าการเล่นพนันนั้นให้นึกว่าเหมือนกับคนที่ถูกหวยนั้นไปเอาเงินจากคนที่โดนหวยกิน ส่วนเจ้ามือคนกลางก็หักค่าใช้จ่ายในการบริหารและหักกำไรออกไป คนที่เล่นหวยเป็นประจำถ้าลองมานับเงินในกระเป๋าที่เหลือดูจะเห็นว่ามันน้อยกว่าต้นทุนที่จ่ายออกไปจะมีคนจำนวนน้อยที่คุ้มเท่านั้นเพราะทุกอย่างกลายเป็นค่าเฉลี่ยหมด ถ้าจะแยกสัดส่วนควรแบ่งแต่พอดีในการเล่น ไม่ให้เดือดร้อนกับตัวเองเล่นสนุกๆ พอเป็นพิธีได้


การคำนวณตามหลักการที่กล่าวมานี้จะแม่นยำมากขึ้นถ้ามีจำนวนข้อมูลมากขึ้น ดังนั้นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยและนักวิศวกรรมการเงิน จะอาศัยข้อมูลที่มีปริมาณเป็นจำนวนมากมาวิเคราะห์และจัดสถานการณ์ที่ตนเองต้องการขึ้นมาจากข้อมูลเหล่านี้ หลังจากนั้นจึงจะนำหลักการเหล่านี้ไปออกแบบระบบการเงินให้คนทั่วไปได้เข้าถึงกัน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องระบบสวัสดิการของสังคม เช่น ระบบสวัสดิการประกันภัย เป็นต้น


ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น มีคำว่า “ประกันภัย” พ่วงเข้ามาด้วย เพราะธุรกิจประกันภัยต้องอาศัยการคำนวณและประเมินสถานการณ์ข้างหน้าของผู้ถือกรมธรรม์แต่ละคนว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรได้บ้าง และนำมาตั้งเป็นราคาขายอีกทีในตอนจบ ซึ่งการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยนั้น ไม่ใช่เป็นการพนัน ไม่ได้ซื้อความลุ้น แต่เป็นการซื้อความคุ้มครองเพื่อบรรเทาความเสียหายทางการเงินเวลาที่เกิดเรื่องร้ายๆขึ้นกับตัว


คณิตศาสตร์ประกันภัยและหลักวิศวกรรมการเงินจึงเป็นศาสตร์ที่สร้างเครื่องมือทางการเงินให้คนอยากเสี่ยงได้ซื้อความเสี่ยงเพื่อลุ้นแบบหวยหรือลอตเตอรี่ และในทางกลับกันก็สามารถทำให้คนที่อยากป้องกันความเสี่ยงแบบกรมธรรม์ประกันภัยหรือเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอื่นๆ ได้ซื้อความคุ้มครองเหล่านี้เอาไว้


ขอขอบคุณอ้างอิง : ประชาชาติธุรกิจ 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)

คอลัมน์คุยฟุ้งเรื่องการเงิน: วันที่ 19 มีนาคม 2564


โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยคุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่ FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย

อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน 

และผู้แต่งหนังสือ

  • The Top job Secret ภาค 1 - อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  • The Top job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)

บทความที่เกี่ยวข้อง