บทเรียนจากสถิติ ของโรคระบาดในอดีต สู่ COVID-19

18 พฤษภาคม 2564

บทเรียนจากสถิติ ของโรคระบาดในอดีต สู่ COVID-19


เนื่องจากไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้การหาข้อมูลเพื่อใช้สำหรับวิเคราะห์ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นไปค่อนข้างยาก

สิ่งที่พอทำได้ก็คือการไปหาข้อมูลของการเกิดโรคระบาดในอดีต เช่น MERS หรือ SARS แล้วลองศึกษาข้อมูลจากการระบาดของเชื้อเหล่านี้ เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์การระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ในครั้งนี้

นอกจากนี้ อาจจะศึกษาวัฏจักรโรคระบาดที่เกิดขึ้นทุก 100 ปี อีกทางด้วยก็ได้ โดยมีการกล่าวกันว่าในทุก 100 ปี จะมีการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัส 1 ครั้ง แบบที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย และทำให้ทุกคนทั้งโลกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์

ย้อนรอยไข้หวัดสเปน เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ที่ถือเป็นวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพที่มีผู้เสียชีวิตโดยประมาณ 60-80 ล้านคนทั่วโลก นับเป็นอัตราการเสียชีวิตของมนุษยชาติมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ


ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ แค่ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนเท่านั้น และประวัติศาสตร์ก็มักจะซ้ำรอยเดิมทุก ๆ 100 ปี จึงถือเป็นประโยชน์ไม่น้อยหากเราจะทำความรู้จักกับโรคระบาดนี้ที่คล้ายกับสถานการณ์ปัจจุบัน

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าการระบาดของไข้หวัดสเปนนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระลอกคลื่น โดยแต่ละคลื่นใช้ระยะเวลาต่างกันและมีการกลายพันธุ์ได้ซึ่งการออกแบบประกันคุ้มครองโรคระบาด

โดยเฉพาะแบบนี้จะต้องเผื่อระลอกคลื่นเหล่านี้ด้วย ถ้าคุ้มครองแค่ 2-3 เดือน ก็ยังพอคำนวณได้ แต่ถ้าเกิน 3 เดือนเป็นต้นไป จะคาดคะเนเผื่อระลอกคลื่นได้ยาก

คลื่นลูกที่หนึ่ง : สามารถติดต่อกันง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มกับคนสุขภาพแข็งแรง แต่คนที่ติดหวัดในระลอกแรกนั้นจะไม่เป็นอันตรายถึงเสียชีวิต หรืออัตราการเสียชีวิตจะไม่สูง

คลื่นลูกที่สอง : ความรุนแรงเพิ่มพูนขึ้น จนสามารถทำให้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่คนที่มีภูมิคุ้มกันจากคลื่นลูกแรกนั้น กลับจะมีโอกาสติดเชื้อได้น้อยกว่า

คลื่นลูกที่สาม : สามารถกลายพันธุ์ไปติดเด็กได้ง่ายมากขึ้น และทำให้คนเสียชีวิตมากขึ้น

จะเห็นว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ในทุก 100 ปีของไวรัสนั้นกราฟของอัตรามรณะ (mortality curve) มีลักษณะเป็นรูป W (คือมันจะแกว่งขึ้นแกว่งลงอย่างมากในแต่ละช่วงอายุ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนที่อายุในวัยกลางคน จะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงเท่า ๆ กับคนสูงอายุและเด็กเล็ก

อย่างสถานการณ์ในปัจจุบันการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กลายพันธุ์ และพร้อมที่จะเป็นคลื่นลูกใหม่ ในขณะที่คนที่ติด COVID-19 ตอนนี้อาจจะมีภูมิต้านทานสำหรับเชื้อที่จะกลายพันธุ์จู่โจมแบบไข้หวัดสเปนในตอนนั้นก็ได้


มุมมองของบริษัทประกัน

การที่บริษัทประกันภัยจะออกแบบกรมธรรม์คุ้มครอง COVID-19 อย่างไรนั้นก็สุดแล้วแต่มุมมองของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในแต่ละบริษัท ว่าจะกล้าคุ้มครองยาวถึงขนาดไหน เนื่องจากความเสี่ยงที่แท้จริงนั้นจะอยู่ตอนระลอกคลื่นถัด ๆ ไป

ตอนนี้คงเป็นเพียงการแข่งกันระหว่างวิวัฒนาการการแพทย์ที่จะหายารักษาโรคและวัคซีนให้ได้ และการวิวัฒนาการของไวรัส

ส่วนหน้าที่ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็ได้แต่เพียงเฝ้าเก็บสถิติ เพื่อให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้ครอบคลุมสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

และจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ทิศทางการแพร่ระบาดในอนาคตนั้นเป็นไปได้หลายแบบและกว้างขวางมาก ทำให้บริษัทประกันที่เปิดรับประกัน COVID-19 นี้ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเคลมจะเกิดได้มากน้อยเพียงใด

จึงจำเป็นต้องอาศัยการคำนวณเผื่อค่าความสูญเสียเอาไว้ โดยพิจารณาเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด (worse case) คือ ผู้เอาประกันภัยติดเชื้อกันหมด และบริษัทรับประกันภัยต้องจ่ายทุกคนและทุกกรณี

ฉะนั้นต้องมาดูว่าบริษัทประกันจะรับความสูญเสียนี้ไหวหรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่งคือ บริษัทประกันควรตระหนักถึงการจำกัดความเสี่ยง (stop loss) มากกว่าการเก็งกำไรจากการขายประกัน COVID-19

เพราะหากคลื่นลูกถัด ๆ ไป ของไวรัสมาแบบรุนแรงมากขึ้น บริษัทประกันก็จะไม่สามารถทำกำไรได้อีกต่อไป ทั้งนี้ จะต้องหาวิธีการเพื่อให้เกิดการขาดทุนน้อยที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น บางบริษัทอาจจะถือว่าการขายประกัน COVID-19 เป็นการทำเพื่อ CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (corporate social responsibility)

อย่างหนึ่งด้วย และโจทย์ที่สำคัญของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยอีกข้อหนึ่งต่อมุมมองของ COVID-19 คือ การเตรียมความพร้อมด้านเงินกองทุนและเงินสำหรับจ่ายคืนลูกค้า โดยต้องคิดเผื่อปัจจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ทั้งหมดนี้ต้องทำแบบจำลองที่แตกต่างจากแบบจำลองการออกแบบประกันทั่วไป ถึงแม้ว่า ณ เวลานี้ ประกันภัย COVID-19 จะยังไม่เกิดเคลมที่มากมายนัก

แต่นักออกแบบอย่างนักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็ต้องเตรียมความพร้อมให้กับบริษัทประกันเอาไว้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคให้มากที่สุด

ในครั้งถัดไปเราจะมากล่าวถึงหลักการและมุมมองของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต่อการออกแบบและคำนวณเบี้ยประกันภัย COVID-19


ขอขอบคุณอ้างอิง : ประชาชาติธุรกิจ 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)

คอลัมน์คุยฟุ้งเรื่องการเงิน: วันที่ 11 พฤษภาคม 2564


โดย : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยคุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่ FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)

นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย 

อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย

อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน 

และผู้แต่งหนังสือ

  • The Top job Secret ภาค 1 - อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  • The Top job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)

บทความที่เกี่ยวข้อง



Like Share

บทความอื่น