Polar ล่าเลือดเย็น - เกษียณจนเจ๊ง จากการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน

16 กรกฎาคม 2562

เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องหนึ่งใน Netflix คือ เรื่อง Polar ล่าเลือดเย็น ซึ่งก็เห็นเรื่องนี้อยู่ในลิสต์หนังแนะนำมานานแล้ว แต่ไม่ได้เปิดเข้าไปดูสักที

หนังสูตรสำเร็จนักฆ่าที่อยากจะวางมือแล้วโดนเจ้านายตัวเองสั่งเก็บ ซึ่งเห็นมาหลายเรื่องแล้ว แต่เรื่องนี้มีพลอตน่าสนใจตรงที่องค์กรนักฆ่านี้ก่อตั้งขึ้นมาในรูปแบบบริษัทที่จงใจฆ่าลูกน้องเก่าที่เกษียณอายุทั้งหมดเพื่อผลทางบัญชีของบริษัทที่ไม่ต้องแบกภาระเรื่อง "เงินบำนาญ" ให้พวกเกษียณนั่นเอง กล่าวคือหักเปอร์เซ็นต์ทุกงานเพื่อเป็นเงินสะสมแล้วบริษัทจะสมทบให้ก้อนโตตอนเกษียณ แต่พอถึงวันนั้นก็จ้างคนมาเก็บ เพราะคุ้มกว่า ซะงั้นเลย

แล้วทำแบบนี้มากับนักฆ่าทุกคนแบบเนียนและได้ผลกันไป แต่ครั้งนี้มันไม่ง่าย เพราะแบล็คไกเซอร์คือสิงฆ์เฒ่าที่ไม่ไดเก๋าเพราะแค่อยู่นาน ตัวหนังยังแอบวางพล็อตเรื่อง "ความทุกข์ในใจของนักฆ่าต่อบาปกรรมที่ทำไว้แต่อดีตและรอวันชดใช้ " ดูเผิน ๆ ก็เป็นพล็อตหนังแนวแอคชั่นทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เหตุผลที่ประธานบริษัทอยากไล่ล่าพระเอกนั้น เป็นเรื่องของเงินเกษียณอายุ หรือก็คือ บริษัทนี้เป็นหนี้อยู่ประมาณ 30 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และไม่ได้รับการไว้วางใจจากนักลงทุนว่าจะชำระหนี้ก้อนนี้ได้ ซึ่งเป็นหนี้สินจำนวน 30 ล้านดอลล่าร์นั้น เป็นหนี้สินที่เกิดจากบริษัทกำลังจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้เหล่านักฆ่าที่กำลังจะเกษียณอายุ หนึ่งในนั้นคือพระเอกของเราด้วย




เมื่อมองกลับมาในประเทศไทย พนักงานอย่างเรา ๆ ก็อยู่ในสถานะเดียวกันกับพระเอกของเรื่อง ที่ทุ่มเททำงานให้กับบริษัทอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีเงินเก็บไม่เพียงพอเสียที มันจึงเป็นอะไรที่ท้าทายมากสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่จะออมให้มีเงินเก็บมากพอที่จะเป็นทุนสำรองไว้ใช้ในยามเกษียณ ยิ่งอนาคตคนเราจะมีอายุยืนขึ้น ก็ยิ่งต้องมีเงินออมในยามเกษียณให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ถ้ามนุษย์เงินเดือนคนไหนที่เกษียณออกมาโดยไม่มีเงินเก็บสักก้อน ก็เหมือนกับมีชีวิตที่ยืนอยู่บนปากเหว แม้แต่เงินทำทุนก็ไม่มี หารายได้เสริมก็อาจไม่เพียงพอกับค่าครองชีพและค่ารักษาพยาบาลที่นับวันก็ยิ่งแพงขึ้น แต่คงจะต่างกันตรงที่ ถ้าบริษัทไม่จ่าย เราคงไปทำเหมือนในภาพยนตร์ก็ไม่ได้
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา กฎหมายแรงงาน (มาตรา 118) จึงระบุว่า ถ้ามนุษย์เงินเดือนคนไหนที่มีอายุงานในบริษัทเกินกว่า 10 ปี ก็จะได้เงินก้อนจากบริษัทถึง 10 เดือนในวันที่เกษียณ เรียกง่ายๆ ว่าได้เป็น  “ค่าชดเชยการเลิกจ้างเมื่อมีอายุครบเกษียณ”  ซึ่งถ้าอายุงานน้อยกว่า 10 ปีก็จะได้ค่าชดเชยที่ลดหลั่นกันลงไป
คำถามคือ “แต่ละบริษัทจะมีเงินจ่ายได้อย่างไรล่ะ ในเมื่ออนาคตจะมีมนุษย์เงินเดือนเกษียณออกมาอีกเป็นกอง?”

“เงินเกษียณของมนุษย์เงินเดือน” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ผลประโยชน์ของพนักงานหลังออกจากงาน” จึงถือเป็นต้นทุนที่แฝงไว้อยู่ในแต่ละบริษัท และต้องประเมินมูลค่าต้นทุนนี้ให้ดี เพราะถ้าประเมินสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้าได้ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์อย่างฟิตเนส California Wow หรือ เว็บดีลชื่อดังอย่าง Ensogo ที่มองข้ามต้นทุนแฝงบางอย่างไป ทำให้กว่าจะรู้ตัวก็ “เจ๊ง” ไปเสียแล้ว



กรณีผลประโยชน์ของพนักงานนี้ “ผู้บริหารอาจจะคิดว่าบริษัทของตัวเองกำลังทำกำไรอยู่ แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา” เพราะลืมว่ามีค่าใช้จ่ายยามเกษียณให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ในวันข้างหน้ารออยู่  ถ้าบริษัทไม่ยอมทยอยตั้งสำรองเอาไว้ในแต่ละปีให้ถูกต้อง ก็จะทำให้บริษัทขาดทุน หรือล้มละลายในอนาคตได้

อาจเพราะกฎหมายยังไม่บังคับให้มีการตั้งคำนวณต้นทุนที่ถูกต้องเอาไว้ ผู้บริโภคที่เป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ จึงตั้งอยู่บนความเสี่ยงว่า บริษัทจะสามารถจ่ายเงินยามเกษียณให้เราตามกฎหมายแรงงานได้หรือไม่ ซึ่งถึงเวลานั้นก็คงได้แต่หวังว่าบริษัทจะสามารถเอาเงินกำไรในปีนั้นๆ มาจ่ายให้กับมนุษย์เงินเดือนที่เกษียณได้เพียงพอ แต่อาจจะต้องแลกกับการตัดค่าใช้จ่ายอื่นหรือตัดโบนัสของพนักงานที่ยังอยู่ แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือการที่ไม่มีปัญญาจ่ายเงินให้คนที่จะเกษียณจนทำให้บริษัทต้องปิดตัวลง

จะดีกว่าไหม? ถ้าเราให้บริษัทประเมินค่าใช้จ่ายล่วงหน้าสำหรับมนุษย์เงินเดือนยามเกษียณ แล้วตั้งเป็นเงินสำรองมาใส่ลงไปในงบการเงิน เพื่อสะท้อนต้นทุนของการจ้างพนักงานให้ถูกต้อง ซึ่งงานที่มีความซับซ้อนและมีผลกระทบต่อบริษัทในระยะยาวแบบนี้ จะใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัย เช่น การคำนวณเชิงสถิติ  การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นจำนวนมาก มาประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดกับบริษัทในอนาคต



ถึงแม้ว่าในไทยจะเริ่มใช้ “มาตรฐานการบัญชีไทย ฉบับที่ 19 (TAS19)” แต่นายจ้างยังคงไม่เข้าใจว่าการคำนวณแบบไหนที่ถูกต้องตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราๆ ด้วย ที่ควรตั้งข้อสังเกตในฐานะพนักงานคนหนึ่งของบริษัทว่า นายจ้างได้มีการคำนวณตั้งสำรองไว้จ่ายเงินเกษียณให้กับพนักงานหรือยัง และตั้งได้อย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

ขนาดบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ที่ว่าแน่แล้ว อย่าง General Motors (GM) ในอเมริกา ยังคำนวณการตั้งสำรองได้ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่มีเงินจ่ายให้กับพนักงานเมื่อยามเกษียณ เรียกง่ายๆ ว่าบริษัทมีกำไรเท่าไร ก็ไม่เพียงพอกับการจ่ายเงินก้อนให้กับมนุษย์เงินเดือนที่เกษียณไปในแต่ละปี จนกระทั่งต้องยื่นล้มละลายในปี ค.ศ. 2009 และยังเป็นคดีฟ้องร้องกันจนถึงทุกวันนี้

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่โด่งดังไม่แพ้กัน คือ เมืองดีทรอยต์ (Detroit) ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกว่าล้มละลาย ซึ่งหนึ่งในสาเหตุคือการตั้งเงินสำรองสำหรับหนี้สินผลประโยชน์พนักงานน้อยเกินไป โดยสำรองไว้ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่ความจริงแล้วควรสำรองไว้ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนั่นหมายความว่า หนี้สินของเมืองดีทรอยต์เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าในชั่วข้ามคืน

บริษัทที่มีมาตรฐานและคำนึงถึงผลประโยชน์ของพนักงาน จึงเฟ้นหา นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ดีกรีคุณภาพ มาคำนวณตั้งเงินสำรองให้ถูกต้องเพื่อเพียงพอจ่ายเงินเกษียณของมนุษย์เงินเดือนให้เหมาะสม

มนุษย์เงินเดือนทำงานมาตลอดชีวิตเพื่อหวังสุขสบายในยามเกษียณ  ถึงแม้ California Wow หรือ Ensogo จะหายเข้ากลีบเมฆไป ก็คงไม่เจ็บใจเท่า เงินยามเกษียณที่ควรจะได้ แต่กลับไม่ได้ เพราะไม่ได้ตั้งสำรองไว้ให้ถูกต้องตามหลักการคณิตศาสตร์ประกันภัย…
เรามาล้อมคอกก่อนวัวจะหายไม่ดีกว่าหรือครับ!

สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน ตามมาตรฐานการบัญชีไทย ฉบับที่ 19 (TAS19) ได้ที่

ขอขอบคุณอ้างอิงจาก : ภาพยนตร์เรื่อง Polar ล่าเลือดเย็น


FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย 
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน 
และผู้แต่งหนังสือ
  • The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  • The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management) 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)