และก็มักจะเกิดคำถาม เช่น พนักงานคนนี้ต้องกรอกไหมคะ? พนักงานลักษณะนี้รวมอยู่ในการคำนวณไหมครับ?
เพื่อให้เข้าใจตรงกันทุกฝ่าย เราสามารถสรุปหลักการพิจารณาว่าต้องกรอกข้อมูลพนักงานคนใดบ้างดังนี้
1. จะต้องกรอกข้อมูลพนักงานทุกคน ที่ทำงานอยู่ ณ วันที่เก็บข้อมูลนั้น ๆ เช่น หากเราเก็บข้อมูลย้อนหลัง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ก็จะต้องกรอกข้อมูลพนักงานทุกคนที่ทำงานอยู่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 แม้ว่า ปัจจุบันพนักงานคนนั้นจะออกจากงานไปแล้วก็ตาม
2. พนักงานที่สามารถยกเว้น ไม่จำต้องกรอกข้อมูลก็ได้มีดังนี้
• พนักงานสัญญาจ้างชั่วคราวที่จ้างเป็นงาน ๆ ไป และมีกำหนดจบงานที่แน่นอน เช่น บริษัทจ้างพนักงานมาพัฒนาระบบไอทีของบริษัทเป็นเวลา 2 ปี เมื่อครบ 2 ปีแล้วก็จบสัญญา ในกรณีนี้ บริษัทไม่จำเป็นต้องตั้งเงินชดเชยให้พนักงานกลุ่มนี้ ดังนั้นจึงไม่ต้องกรอกข้อมูลส่วนนี้มา
• ผู้บริหาร หรือพนักงานที่ไม่ประสงค์จะรับเงินชดเชยเมื่อเกษียณอายุ แต่จำเป็นต้องมีหนังสือรับรองจากฝ่ายกฎหมายของบริษัทเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะอาจจะมีกรณีที่ ผู้บริหารบอกว่าจะไม่รับเงินชดเชยเกษียณอายุ เพื่อจะได้ไม่ต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในการคำนวณ เพื่อให้หนี้สิน และค่าใช้จ่ายของบริษัทออกมาไม่สูงมาก แต่เมื่อถึงวันเกษียณอายุจริง ๆ อาจจะเปลี่ยนใจต้องการเงินชดเชยก็ได้
• พนักงานที่สัญญาจ้างงาน เป็นแบบจ่ายเงินให้ตามชิ้นงาน ทำน้อยได้น้อย ทำมากได้มาก และไม่มีการกำหนดขั้นต่ำ ไม่นำเข้ามาในการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน เนื่องจากมองว่าเป็นเหมือนพนักงานกลุ่มนี้ทำสินค้า หรือชิ้นงานมาขายแก่บริษัท ซึ่งจุดสังเกตคือบริษัทจะไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ได้ เช่น กำหนดว่าต้องทำให้ได้อย่างน้อยเท่าไร หรือจะต้องเริ่มทำงานตั้งแต่ 8.30 นาฬิกา เป็นต้น
3. พนักงานสัญญาจ้างชั่วคราวแบบปีต่อปี ไม่ได้มีกำหนดจบงานที่แน่นอน จะต้องนำเข้ามารวมในการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วย ไม่สามารถยกเว้นได้
4. พนักงานต่างด้าวที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในบริษัทแม่ในต่างประเทศ ต้องนำมารวมในการคำนวณด้วย เนื่องจากกฎหมายแรงงานเขียนไว้ชัดเจนว่าจะต้องได้รับเงินชดเชยเกษียณอายุ เช่นเดียวกับพนักงานคนไทย
5. พนักงานต่างด้าวที่มีรายชื่ออยู่ในบริษัทแม่ในต่างประเทศ กรณีนี้จะต้องหารือกับทางบริษัทแม่ว่าได้มีการตั้งเงินสำรองหนี้สินในพนักงานกลุ่มนี้แล้วหรือไม่ หากยังไม่มี ใครจะต้องเป็นผู้ตั้งเงินสำรองเอาไว้
กฎเกณฑ์ทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นแนวทางในการพิจารณาว่าพนักงานคนใดบ้างที่จะต้องนำมาคำนวณ เพราะมีไม่น้อยเลย ที่คำนวณจนออกเล่มรายงานผลการประมาณการเรียบร้อยแล้ว กลับมาพบเจอทีหลังว่าข้อมูลพนักงานผิดพลาด ทำให้ต้องเริ่มคำนวณใหม่อีกครั้ง ซึ่งทำให้การคำนวณล่าช้าออกไป