ประกันบำนาญที่ไม่ใช่ประกันบำนาญ

16 กรกฎาคม 2562

ประกันบำนาญที่ไม่ใช่ประกันบำนาญ


หนึ่งในเรื่องที่น่าปวดหัวที่สุดสำหรับการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณนั้น คือ การคาดคะเนอายุขัยของตัวเราว่าควรจะมีเท่าไร เพราะถ้าเกิดเราตายไปก่อน เราก็ดันเก็บเงินไว้เยอะเกินไป (ถ้ารู้อย่างนี้ สู้ทำงานให้น้อยลงในตอนนี้ดีกว่า) แต่ถ้าเราเกิดอยู่อึดขึ้นมา แล้วยังไม่ตายเสียที เราก็จะกลายเป็นตกนรกทั้งเป็น อยู่อย่างอดอยาก ไม่มีค่ารักษาพยาบาลที่เพียงพอ (ถ้ารู้อย่างนี้ สู้ทำงานให้มากขึ้นตั้งแต่ตอนนี้ดีกว่า)


การวางแผนการเงิน


      เนื่องด้วยความไม่พอดีข้างต้น เราจึงต้องสร้างเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งขึ้นมาเพื่อเฉลี่ยค่าอายุขัยเหล่านี้  ซึ่งทุกคนคงคุ้นเคยกันในชื่อ “แบบประกันบำนาญ”

      แบบประกันบำนาญมีหน้าที่หลัก คือ การกระจายเงินของคนที่ตายก่อนอายุขัยเฉลี่ยไปให้กับคนที่ตายหลังอายุขัยเฉลี่ย ซึ่งในตอนที่ซื้อนั้นเราจะยังไม่รู้ว่าจะตายก่อนหรือตายหลังอายุขัยเฉลี่ย และในแต่ละกลุ่มนั้นต้องจัดกลุ่มให้มีความเสี่ยงหรือค่าเฉลี่ยอายุขัยที่ใกล้ ๆ กัน โดยให้คิดเสียว่า ถ้าตายก่อนอายุขัยก็เหมือนกับได้ทำบุญให้กับคนที่ตายหลังอายุขัย

      เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ให้เราคิดเหมือนกับว่า ถ้ามีอากงอาม่าจำนวน 1,000 คน ได้รวมเงินมาไว้ตรงกลางกันก่อน และตกลงกันว่าจะค่อย ๆ เอาเงินออกมาใช้ในจำนวนที่เท่ากันในแต่ละเดือน แต่ถ้าใครลาโลกไปก่อน ก็จะอดได้ใช้เงินส่วนที่เหลือจากเงินกองกลางนั้น เพราะเงินส่วนที่ไม่ได้ใช้นั้นจะต้องเก็บไว้ให้กับคนที่เหลือได้ใช้ต่อไปจนกว่าทุกคนจะหายไปจากโลกนี้กันหมด

      ในโลกของความเป็นจริงนั้น อากงอาม่าเองก็คงไม่มานั่งไล่ล่าหารายชื่อเพื่อมารวมเงินกันตรงกลาง แต่จะอาศัยคนกลางที่คอยทำหน้าที่ในการบริหารเงินกองกลางนี้ แล้วจัดสรรปันส่วนให้ยุติธรรมที่สุด และนี่ก็คือที่มาของโครงสร้างในแบบประกันบำนาญนั่นเอง ซึ่งปกติแล้วบริษัทที่บริหารเงินกองกลางเหล่านี้ก็จะมีให้สมาชิกได้วางแผนการเงินสำหรับเกษียณไปด้วย โดยบริษัทไม่ได้รับผิดชอบเพียงแค่บริหารเงินกองกลางในการจ่ายเงินในช่วงจ่ายบำนาญ (Payout Period) เท่านั้น แต่จะให้สมาชิกสามารถทยอยจ่ายเงินมาในช่วงที่มีแรงทำงานอยู่ และบรรจุแผนการวางแผนเกษียณเข้าไปด้วย ในช่วงสะสมเงิน (Accumulation Period) เพื่อให้เพียงพอไปจ่ายเงินในช่วงจ่ายบำนาญ (Payout Period) ในอนาคต


      ประกันชีวิต


      บริษัทที่บริหารเงินกองกลางนี้จึงกลายเป็นบริษัทประกันชีวิต ส่วนสมาชิกของเงินกองกลางนี้ได้กลายเป็นผู้ถือกรมธรรม์ไปนั่นเอง

      อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของแบบประกันบำนาญในประเทศไทยมีอยู่หลายอย่าง จึงทำให้แบบประกันนี้ไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่ มันจะกลายเป็นพระเอกของเครื่องมือทางการเงินระดับชาติที่จะช่วยให้คนไทยอยู่ดีมีสุขได้ในอนาคต ซึ่งข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ทำให้เติบโตไม่ได้นั้น มีดังนี้


      1. เบี้ยประกันบำนาญแพงเกินไป หนึ่งในสาเหตุหลักมาจากการที่บริษัทประกันชีวิตไม่สามารถปลดล็อคการลงทุนเพื่อนำไปลงทุนในเครื่องมือการเงินระยะยาวที่เหมาะสมได้ (แบบประกันบำนาญนั้นจะต้องมีระยะเวลาลงทุนที่ยาวนานเป็นพิเศษ) ดังนั้นทางแก้ข้อจำกัดนี้ คือ เราควรจะมีกฎเกณฑ์ที่อนุญาตให้บริษัทประกันชีวิตสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนในระยะยาวที่สูงได้

      2. เบี้ยประกันบำนาญบางแบบนำมาลดหย่อนภาษีภายใต้กฎเกณฑ์ของสรรพากรไม่ได้ เนื่องจากทางสรรพากรอนุญาตให้แบบประกันบำนาญที่จ่ายเงินบำนาญแบบการันตีไปถึงอายุ 75 ปีเท่านั้นที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษี 200,000 บาทได้ ซึ่งแบบประกันที่นำอายุขัยมาเฉลี่ยกันไม่ได้ จะขัดกับหลักของการประกันบำนาญไป ทำให้แบบประกันบำนาญที่สรรพากรอนุญาตให้ลดหย่อนภาษีได้นั้นไม่ใช่แบบประกันบำนาญตามหลักการที่แท้จริง

      3. บริษัทประกันชีวิตที่ขายแบบประกันบำนาญในประเทศไทยนั้นจะถูกเรียกเก็บภาษีมากกว่าแบบประกันอื่น ๆ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี วรรค 1 ข้อ ก และ ข สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกฎหมายว่าด้วยการเรียกเก็บภาษีนี้ยังไม่เคยแก้ไขเปลี่ยนแปลงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

      4. อีกสาเหตุหนึ่งที่คนไทยไม่นิยมซื้อเบี้ยประกันบำนาญ คือ ตอนนี้ยังไม่มีกิน จึงยังไม่คิดถึงอนาคต ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาปากท้องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนกันไป อย่างไรก็ตาม ควรมีการเตรียมตัวเอาไว้เผื่อมีโอกาสในการออมด้วย ตัวอย่างของการออมที่เริ่มทำได้ทันที เช่น การลดวงเงินในการซื้อลอตเตอรี่แล้วนำไปจัดสรรปันส่วนจำนวนหนึ่งมาเป็นการออมเอาไว้


      ขอขอบคุณอ้างอิง: ประชาชาติธุรกิจ 

      เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)

      คอลัมน์คุยฟุ้งเรื่องการเงิน: วันที่ 3 มกราคม 2565



      นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
      อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย 
      อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน
      และผู้แต่งหนังสือ 
      •  The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
      •  The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
      • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
      • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)

      บทความที่เกี่ยวข้อง




      Like Share

      บทความอื่น