ซึ่งใจความสำคัญอยู่ในย่อหน้าสุดท้าย โดยหมายความว่า สำนักงานคปภ. รับรองว่าผู้ที่มีใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ออกโดยสำนักงานคปภ. มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะคำนวณสำรองประกันภัย ในธุรกิจประกันภัยเท่านั้น
แต่สำหรับการคำนวณสำรองผลประโยชน์พนักงานนั้น สำนักงานคปภ.ไม่ได้รับรองใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญ จึงควรตรวจสอบจากใบคุณวุฒิในระดับสากล จาก www.soat.or.th เป็นหลัก
2. แผนผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากตามมาตรฐานบัญชีไทย ฉบับที่ 19 ได้มีการแบ่งแผนผลประโยชน์ออกเป็น 4 ประเภทคือ
1. ผลประโยชน์ระยะสั้น คือ พวกเงินเดือน โบนัส หรือวันลาระยะสั้นที่ได้รับผลตอบแทน
2. ผลประโยชน์หลังเลิกจ้าง คือ ผลประโยชน์ที่จ่ายให้พนักงานเมื่อไล่ออกจากงาน
3. ผลประโยชน์หลังออกจากงาน คือ ผลประโยชน์ที่จ่ายให้พนักงานเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
3.3 โครงการสมทบเงิน (Defined Contribution) คือ โครงการที่ลูกจ้าง และนายจ้างต่างฝ่ายตามสมทบเงินเข้ากองทุน และจะมีผู้จัดการกองทุนนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนให้เติบโต เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
3.4 โครงการผลประโยชน์ (Defined Benefit) คือ ผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ตายตัว มีเงื่อนไขชัดเจนว่าจะจ่ายเงินชดเชยให้เท่าไร เช่น เงินชดเชยตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน
4. ผลประโยชน์ระยะยาวอื่น
ตามมาตรฐานบัญชีกล่าวว่าคือผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ 3 ประเภทแรก ยกตัวอย่างเช่น รางวัลเมื่อทำงานเป็นระยะเวลานาน หรือ ทำงานครบ 5 ปีได้เงิน 10,000 บาท ทำงานครบ 20 ปี ได้เงิน 50,000 บาท เป็นต้น
ซึ่งจะมีเพียง ผลประโยชน์หลังออกจากงาน แบบโครงการผลประโยชน์ และ ผลประโยชน์ระยะยาวอื่น เท่านั้นที่จะคำนวณโดยใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ดังนั้นหากเข้าใจแผนผลประโยชน์ของบริษัทครบถ้วน ก็จะช่วยประหยัดเวลาได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ว่า บริษัทเข้าใจแผนผลประโยชน์ของบริษัทผิด
ทำให้เมื่อคำนวณเสร็จไปเรียบร้อย แต่เพิ่งทราบว่ายังมีแผนผลประโยชน์อีก 1 แผนที่ไม่ได้คำนวณ ทำให้ต้องเริ่มคำนวณใหม่อีกครั้งหนึ่ง จึงไม่สามารถทำให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดการเดิมได้
3. วันที่ประมาณการ และผลลัพธ์การคำนวณผลประโยชน์พนักงาน
ในการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน เราจะต้องกำหนดวันประมาณการก่อนว่า ต้องการคำนวณ ณ วันใด โดยปกติจะคำนวณ ณ วันสิ้นปีงบประมาณ แต่จะต้องคำนวณ ณ สิ้นปีงบประมาณใดนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อคำนวณเสร็จแล้ว เราจะได้ผลลัพธ์ออกมาแบบใดบ้าง
สิ่งสำคัญที่สุด ที่จะต้องเข้าใจไว้ก่อนคือ หากเราคำนวณ ณ วันใด ผลลัพธ์ที่ได้จะเริ่มต้นที่ ณ วันนั้น ๆ กล่าวคือ หากเราจัดจ้าง นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ก็จะได้หนี้สิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ออกมาก่อน แล้วค่อยประมาณการไปข้างหน้า
ซึ่งการประมาณการไปข้างหน้า ก็จะมีให้เราเลือกได้ว่า ต้องการให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยประมาณการไปข้างหน้าจำนวนกี่ปี หากเราต้องการเพียง 1 ปี นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ก็จะส่งตัวเลขหนี้สิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ตามด้วยค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และ หนี้สิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 1 ปี
หากเราต้องการ 3 ปี ก็ได้ตัวเลข หนี้สิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ค่าใช้จ่ายของปี 2563 – 2565 และจะมีหนี้สิน ณ วันสิ้นปีงบประมาณทุก ๆ ปี ไปจนถึงปี 2565 เช่นกัน
ดังนั้นสำหรับผลการประมาณการไปข้างหน้า จะค่อนข้างง่าย คือให้เลือกเพียงแค่ว่าต้องการจะให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยประมาณการไปข้างหน้าจำนวนกี่ปีเท่านั้น (โดยทั่วไปแล้ว จะไม่เกิน 3 ปี)
แต่ตัวเลขย้อนหลังจะเข้าใจได้ยากกว่า โดยตัวเลขข้างหลังนั้น จะต้องเลือกว่าต้องการตัวเลขแบบ Restatement หรือ Remeasurement
1. ตัวเลขแบบ Restatement คือการคำนวณตัวเลขย้อนหลังใหม่ทั้งหมด โดยหากเราคำนวณ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ก็จะได้ค่าใช้จ่ายของวันที่ 1 มกราคม 2562 ถึง 31 ธันวาคม 2562 และจะมีหนี้สินของวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ด้วย ซึ่งแบบนี้ จะเรียกว่าทำ Restatement จำนวน 1 ปี
หรือถ้าเลือก Restatement จำนวน 2 ปี ก็ได้ตัวเลขย้อนหลังไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2560
โดยส่วนใหญ่แล้ว ตัวเลขแบบ Restatement จะทำเมื่อไม่เคยคำนวณมาก่อน หรือแม้จะเคยคำนวณและบันทึกบัญชีไปแล้ว แต่ต้องการปรับปรุงงบย้อนหลัง (มักเกิดกับบริษัทที่เดิมบันทึกบัญชีตามมาตรฐานชุดเล็ก และต้องการเปลี่ยนเป็นชุดใหญ่)
2. ตัวเลขแบบ Remeasurement คือการคำนวณแบบเชื่อมตัวเลขกับการคำนวณครั้งที่แล้ว แน่นอนว่าจะสามารถคำนวณแบบนี้ จะต้องเป็นการคำนวณครั้งที่ 2 เป็นต้นไป ซึ่งตามมาตรฐานบัญชีไทย ฉบับที่ 19 ได้ระบุไว้ว่าเมื่อมีการคำนวณใหม่ จะต้องมีการคำนวณสิ่งที่เรียกว่า การวัดมูลค่าใหม่ ซึ่งมีส่วนสำคัญคือ ผลกำไรหรือขาดทุนจากการคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือ Actuarial Gains and Losses ซึ่งจะยังไม่ลงรายละเอียดในทีนี้ แต่จะอธิบายหลักการคำนวณคร่าว ๆ ว่า
Actuarial Gains and Losses จะคิดจากส่วนต่างของการประมาณการครั้งที่แล้ว และการประมาณการครั้งปัจจุบัน ณ เวลาเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น ครั้งแรกที่คำนวณ บริษัทคำนวณ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 และประมาณการล่วงหน้า 3 ปี ซึ่งจะมีหนี้สิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ด้วย
และการคำนวณครั้งที่ 2 ทำการประเมิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ก็จะมีหนี้สิน ณ วันประเมินเช่นกัน แน่นอนว่า หนี้สิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ของการคำนวณทั้ง 2 ครั้งจะไม่เท่ากัน เพราะข้อมูลพนักงาน และสมมติฐานเปลี่ยนไป ซึ่งส่วนต่างที่ว่าคือ Actuarial Gains and Losses นั่นเอง
เมื่อเข้าใจแล้วว่าผลการประมาณการที่ออกมา จะเป็นอย่างไรบ้าง ก็จะเข้าใจได้ว่าวันที่ทำการประเมินนั้นควรจะเลือกอย่างไร หากเราเลือกทำแบบ Restatement เรื่องวันประเมินอาจไม่มีประเด็นอะไรสำคัญ เพียงเลือกคำนวณ ณ ปีงบประมาณปัจจุบันก็ได้
แต่สำหรับการคำนวณแบบ Remeasurement นั้น ตัวเลขจากการคำนวณครั้งที่แล้วจะสำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวบ่งบอกว่า ครั้งถัดไปควรจะคำนวณในช่วงเวลาใด เพราะอย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่า การคำนวณ Actuarial Gains and Losses คือหาส่วนต่างของหนี้สิน ของการประมาณการ 2 ครั้ง ณ ช่วงเวลาเดียวกัน
สมมติจากตัวอย่างเดิมว่า การคำนวณครั้งแรก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 และประมาณการไปข้างหน้า 3 ปี หรือมีหนี้สินจนถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เท่ากับว่า เราจะต้องคำนวณครั้งใหม่อย่างช้าที่สุด ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จะคำนวณหลังจากนี้ไม่ได้ เพราะการประมาณการครั้งเก่าไม่มีตัวเลขไปไกลกว่านั้น ซึ่งจะไม่สามารถคำนวณ Actuarial Gains and Losses ได้
ที่ผ่านมา เราเคยเจอปัญหาว่า เมื่อบริษัทคำนวณครั้งแรก ก็จะคำนวณแบบ Restatement ซึ่งจะมีตัวเลขย้อนหลัง และเมื่อคำนวณครั้งใหม่ ก็คิดว่าจะมีตัวเลขย้อนหลังมาให้เหมือนกันคำนวณครั้งแรก เมื่อเห็นว่ารายงานการคำนวณครั้งแรก มีตัวเลขจนถึงสิ้นปี 2562 ก็คิดว่า สิ้นปีงบประมาณ 2563 ค่อยคำนวณใหม่ ซึ่งจะเกิดปัญหาว่า คำนวณ Actuarial Gains and Losses ไม่ได้, ตัวเลขในระหว่างปี 2563 ก็ไม่มี หรือต่อให้คำนวณแบบ Restatement ไป ก็มีปัญหาใหม่อีกว่า ย้อนหลังไปแล้ว ตัวเลขไม่ชนกับรายงานเล่มเดิม สุดท้ายก็ต้องมาคุยกันใหม่ว่าจะต้องคำนวณ หรือบันทึกบัญชีกันอย่างไร ดังนั้นหากเข้าใจเรื่องวันประเมิน และผลลัพธ์จากการคำนวณ ก็จะทำให้คำนวณได้ง่ายขึ้น
ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ควรรู้เบื้องต้น ก่อนเริ่มต้นจัดจ้างนักคณิตศาสตร์ประกันภัย เพื่อจะได้เข้าใจถึงหลักการทำงาน และสื่อสารกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงไม่เกิดปัญหาติดขัดในระหว่างกระบวนการ ซึ่งอาจส่งผลให้การคำนวณล่าช้า และอาจได้ตัวเลขไม่ทันวันปิดรอบบัญชี