4 ปัจจัยสำหรับการกำหนดสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยของมาตรฐานบัญชีไทยฉบับที่ 19

16 กรกฎาคม 2562

บ่อยครั้ง เมื่อได้รับเล่มรายงานผลการประมาณการผลประโยชน์พนักงาน ก็มักจะมีข้อสงสัยว่า เอ๊ะ สถิติออกมาเป็นแบบนี้ แต่ทำไมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยตั้งสมมติฐานอีกแบบหนึ่ง ไม่เห็นเหมือนสถิติเลยล่ะ ตรงนี้เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การตั้งสมมติฐานที่ถูกต้อง ต้องใส่ forward looking view เป็นการมองไปข้างหน้า เหมือนนักเศรษฐศาสตร์ด้วย อาจจะไม่สามารถเชื่อสถิติได้เสมอไป เพราะสถิติเพียง 2 – 3 ปี ไม่สามารถระบุว่า อีก 20 – 30 ปี บริษัทจะเป็นเหมือนสถิติที่เก็บมา




ซึ่งเราสามารถสรุปปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณากำหนดสมมติฐานได้ดังนี้
1. สมมติฐานเดิม และ ผลกระทบจากการปรับปรุงค่าประสบการณ์
สมมติฐานเดิมของบริษัทที่เคยใช้ในการคำนวณ เนื่องจากสมมติฐานที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมองว่าเหมาะสมในอดีต ก็สามารถใช้สะท้อนสถิติของบริษัทในอดีตได้เช่นกัน รวมถึงในการตั้งสมมติฐาน เมื่อคำนวณสถิติออกมาได้แล้ว จะต้องพิจารณาต่อไปว่า สถิติที่เกิดขึ้นนั้นใกล้เคียงกับสมมติฐานเดิมหรือไม่ หากสถิติยังใกล้เคียงกับสมมติฐานเดิม นักคณิตศาสตร์ประกันภัยอาจจะให้น้ำหนักกับสมมติฐานเดิมมากขึ้น 

แต่ในกรณีที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก นักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะต้องประเมินก่อนว่าสถิติที่เปลี่ยนไปนี้ เป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (One-off) หรือ เป็นเหตุการณ์ที่จะขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต (Recurring) เพื่อตัดสินใจว่าสมควรเปลี่ยนแปลงสมมติฐานหรือไม่ และเมื่อลองคำนวณดูแล้ว หนึ่งในผลลัพธ์ที่จะได้มาคือ ผลกระทบจากการปรับปรุงค่าประสบการณ์ ซึ่งผลกระทบจากการปรับปรุงค่าประสบการณ์นี้คือการเปรียบเทียบระหว่างสมมติฐานเดิม กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะสะท้อนได้ว่าสมมติฐานเดิมนั้นแตกต่างจากเหตุการณ์จริงเท่าไร และควรปรับเปลี่ยนสมมติฐานเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร

2. สถิติในอดีตของบริษัท
ข้อมูลสถิติของบริษัทในอดีต ซึ่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะให้น้ำหนักกับสถิติย้อนหลังของบริษัทมากน้อยขนาดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือหรือจำนวนข้อมูลพนักงาน และจำนวนปีที่มีสถิติย้อนหลัง หากมีสถิติหลายปี หรือมีพนักงานจำนวนมาก ก็จะให้น้ำหนักกับสถิติของบริษัทเยอะขึ้น หรือบริษัทมีจำนวนพนักงานแค่หลักร้อยคน ก็อาจจะไม่ให้น้ำหนักกับสถิติตัวนี้เลยก็ได้ เพราะความน่าเชื่อถือนั้นยังน้อยอยู่
รวมถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในองค์กร เช่น เปลี่ยนผู้บริหาร เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เปลี่ยนสถานที่ทำงาน เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น ก็มีผลต่อการกำหนดสมมติฐานเช่นกัน




3. ปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายนอกในที่นี้ หมายถึง ข้อมูลในระดับมหภาคของประเทศไทย ประกอบด้วยข้อมูลด้านต่าง ๆ ดังนี้
GDP ของประเทศไทย และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะมีผลกับการกำหนดสมมติฐานอัตราการขึ้นเงินเดือน
ข้อมูลในตลาดการเงิน ณ วันที่ประเมิน เช่น อัตราคิดลด ซึ่งตามมาตรฐานการบัญชีไทยจะต้องอ้างอิงจากพันธบัตรจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)
ข้อมูลจากสมาคมการจัดการงานบุุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) เพื่อจะได้ทราบภาพรวมของอัตราการหมุนเวียนพนักงาน ว่าสถิติของประเทศไทยเป็นเท่าไร
ตารางมรณะจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (OIC)
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าข้อมูลเหล่านี้ คือข้อมูลระดับมหภาคของประเทศไทย ดังนั้นจึงมีความน่าเชื่อถือสูงกว่าข้อมูลในระดับบริษัท เนื่องจากฐานข้อมูลมีจำนวนแตกต่างกันอย่างมาก

4. Time horizon ช่วงระยะเวลาที่ประมาณการอนาคต
เนื่องจากการตั้งสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกัยภัย อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าจะต้องต้องใส่ forward looking view ดังนั้นระยะเวลาในประมาณการไปข้างหน้า 20 ปี หรือ 40 ปี จะมีแนวทางการมอง Forward looking แตกต่างกัน โดยในการตั้งสมมติฐาน นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ให้รอบด้าน และครบถ้วน โดยจะให้น้ำหนักไปยังส่วนใดมากกว่านั้นก็แล้วแต่กรณีไป ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มากพอในการตัดสินใจ

อย่างไรก็ดี ข้อสำคัญในการตั้งสมมติฐานที่ทุกคนควรจะเข้าใจคือ
อดีต ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกอนาคตเสมอไป



FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย 
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย 
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน
และผู้แต่งหนังสือ 
  • The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  • The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)