รู้ทันนายจ้าง กับเรื่องต้องรู้ในกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ 2562

1 สิงหาคม 2562

ถือเป็นข่าวดีของลูกจ้างและมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย เมื่อล่าสุดวันที่ 5 เมษายน 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศให้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้ว กฎหมายแรงงานก็ไม่ใช่แค่เรื่องของ HR หรือบริษัทอย่างเดียว ลูกจ้างทุกคนก็ควรที่จะต้องรู้เช่นเดียวกัน วันนี้เราจะพูดถึง 7 สิทธิประโยชน์ใหม่ ที่ได้รับเพิ่มจากพรบ.คุ้มครองแรงงาน 2562 มีประเด็นสำคัญคือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ส่วนจะเพิ่มสิทธิ์อะไรให้ลูกจ้างบ้างนั้น เราตามมาดูกันเลย 




1.กรณีลากิจ
ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน

2.กรณีลาคลอด
ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรไม่เกิน 98 วัน นับรวมวันหยุดและนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน

3. อัตราค่าชดเชยให้ลูกจ้าง
เพิ่มอัตราค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างให้กับลูกจ้าง เป็น 6 อัตราจาก 5 อัตรา ดังนี้
 ทำงานครบ 120 วันแต่ไม่ถึง 1 ปี  ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
 ทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ถึง 3 ปี  ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
 ทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่ถึง 6 ปี  ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
 ทำงานครบ 6 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี  ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
 ทำงานครบ 10 ปีแต่ไม่ถึง 20 ปี  ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
 ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 400 วัน



4. กรณีนายจ้างมีการเปลี่ยนตัวหรือเปลี่ยนนิติบุคคล 
กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง หรือนายจ้างเป็นนิติบุคคล และมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด หากมีผลทำให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ การไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างคนนั้นด้วย และให้สิทธิต่างๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างคนเดิมคงมีสิทธิต่อไป โดยนายจ้างใหม่ ต้องรับไปทั้งสิทธิ และหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ 

5. กรณีย้ายสถานประกอบการไปยังสถานที่อื่น
ให้ประกาศแจ้งลูกจ้างทราบล่วงหน้า ในที่เปิดเผยที่ลูกจ้างสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันย้าย โดยต้องมีข้อความชัดเจนว่าลูกจ้างคนใดจะต้องถูกย้ายไปสถานที่ใดและเมื่อใด หากนายจ้างไม่ปิดประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยทานการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน และหากลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ ต้องแจ้งให้ทราบเป็นหนังสือภายใน 30 วัน และให้ถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ



6. กรณีจ่ายค่าตอบแทน
ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถูกต้องตามกำหนดเวลา โดยต้องกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างในอัตราที่เท่ากันทั้งชายและหญิงในงานที่มีค่าเท่าเทียมกัน ดังนี้
- กรณีที่มีการคำนวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง หรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่น ที่ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ให้จ่ายไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง
- ในกรณีที่มีการคำนวณค่าจ้างนอกเหนือจากนี้ ให้จ่ายตามกำหนดเวลาที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
- ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย ให้จ่ายไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน


7. กรณีบอกเลิกสัญญาจ้าง
ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ  ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับ นับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้าง โดยให้จ่าย ในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย หรือไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัด 15% ต่อปี 

ดังนั้น นายจ้างจะทำสิ่งใด ลูกจ้างจะทำสิ่งใด ก็ควรทำให้ถูกต้องตามหลักของกฎหมายทุกประการ
เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกฟ้องร้องในภายหลัง และเพื่อรักษาสิทธิ์ของตนเอง หลังจากการถูกเลิกจ้างทั้งฝั่งนายจ้างเองและฝั่งลูกจ้างด้วย 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th


นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย 
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน
และผู้แต่งหนังสือ 
  •  The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  •  The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)

บทความที่เกี่ยวข้อง



Like Share

บทความอื่น