“แบบผลิตภัณฑ์ประกันภัย” หนึ่งในหัวใจสำคัญของธุรกิจประกัน

30 สิงหาคม 2562

เนื่องจากในปีที่ผ่านมา มีบริษัทประกันภัยยื่นขอแบบประกัน 8,000 กว่าแบบ ส่วนหนึ่งนั้นเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตารางมรณะ บริษัทประกันต่างๆจึงมีการขออัพเดทแบบประกันที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น นำมาขออนุมัติเบี้ยใหม่ และนั่นทำให้เป็นที่มาของการปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยและการพัฒนาปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพ 

ซึ่งในขณะนี้ การจะยื่นขออนุมัติแบบประกันจากคปภ. นั้น จะมีอยู่ 2 ช่องทางด้วยกัน คือ แบบยื่นขออัตโนมัติ กับ แบบยื่นขอปกติ 

และเพื่อให้เป็นแนวทางในการยื่นแบบประกันให้คปภ.พิจารณาได้รวดเร็วยิ่งขึ้นนั้น ทางภาคธุรกิจจะต้องมีการตั้ง Product Governance Committee ขึ้นมาเพื่อเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนที่จะยื่นส่งให้ คปภ. พิจารณาอนุมัติ โดยหลังจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แล้ว ทางคปภ. คาดหวังว่าการยื่นแบบประกันขออนุมัติส่วนใหญ่จะเข้าแบบ อัตโนมัติทั้งหมด 80% และอีก 20% ที่เหลือ จะเป็นการยื่นขอแบบปกติ 

เพื่อให้การอนุมัติแบบปกติรวดเร็วยิ่งขึ้น ทางคปภ. เสนอแนวทางแก้ โดยแบ่งเคสปกติให้เป็น ปกติแบบเป็นการขอใหม่ หรือ เป็นการขอต่ออายุ หรือ เป็นการขอแบบซับซ้อน หรือ ไม่ซับซ้อน 
- แบบปกติ แบบขอใหม่ ไม่ซับซ้อน
- แบบปกติ แบบขอใหม่ ซับซ้อน
- แบบปกติ แบบขอต่ออายุ ไม่ซับซ้อน
- แบบปกติ แบบขอต่ออายุ ซับซ้อน
ซึ่งเมื่อมีการแบ่ง เคสปกติ ออกมาจากที่เป็นแบบ ปกติอย่างเดียว เป็นแบบปกติ ที่แบ่งออกมาเป็น 4 ช่องทางเพิ่มเติม ก็จะสามารถทำให้การยื่นขออนุมัติแบบประกันจาก คปภ. เร็วขึ้นได้

ในส่วนของทางสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น มองเห็นว่า แบบประกันภัยเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของธุรกิจประกันภัย โดยมองในมุมกว้างถึงเรื่องความสามารถในการแข่งขัน แบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง นวัตกรรม เบี้ยประกันภัย ความยืดหยุ่นทั้งฝั่งภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งทางสมาคมฯ ยินดีสนับสนุนเรื่องของการร่างสูตรการคำนวณที่ผ่อนคลายและยืดหยุ่นเพื่อให้คปภ. นำไปพิจารณาใช้กับบริษัทประกันภัย โดยเบื้องต้น จะเป็นทางฝั่งประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็น สูตรคำนวณมูลค่าเวนคืนเงินสด สูตรคำนวณการขยายระยะเวลากรมธรรม์ สูตรคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้กรมธรรม์ การคิดหาดอกเบี้ยจากการลงทุน หรือแม้กระทั่งอัตราคิดลดในการคำนวณเบี้ยประกันภัย และวิธีการทดสอบความสามารถในการทำกำไรหรือคืนเงินให้ผู้ถือกรมธรรม์ได้ เป็นต้น  ทั้งนี้ทางสมาคมฯ จะร่างเป็นแนวทางปฏิบัติงานทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย (actuarial guidance note) ขึ้นมา ซึ่งต้องขอขอบคุณทางคปภ.ที่สนับสนุน ทั้งนี้ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจด้วย 
ในด้านประกันสุขภาพนั้น แนวทางใหม่จะให้เกณฑ์กับธุรกิจประกันภัยว่า การที่จะไม่ต่ออายุกรมธรรม์นั้น จะต้องเข้าเงื่อนไขในต่อไปนี้
- ผู้เอาประกันปกปิดความจริงในตอนสมัครทำประกัน
- เรียกร้องค่าสินไหมเกินกว่าความเป็นจริงหรือเกินกว่าความจำเป็น
- เมื่อรวมทุนประกันที่ซื้อเอาไว้ ปรากฎว่าซื้อทุนประกันเกินกว่ารายได้ที่แท้จริง ซึ่งขัดต่อหลักการประกันภัย

อีกด้านหนึ่งคือ waiting period (ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง) นั้น จากที่บางโรคมีระยะเวลาถึง 120 วัน ก็จะมีแนวทางเสนอให้ร่นเหลือ 30 วัน ซึ่งทางสมาคมฯ เห็นว่า จะทำให้บริษัทประกันภัยได้รับความเสี่ยงส่วนเกินเพิ่มเข้ามา (เช่นจากคนเป็นโรคมะเร็งมาก่อนเป็นต้น) ทำให้อาจจะมีผลต้องปรับเบี้ยโดยรวมสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น อีกทั้ง บริษัทรับประกันภัยต่อ อาจจะไม่ยอมรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ได้ จึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องปรึกษาหารือกันอีกที 

และเรื่องที่น่าจะเป็นข้อสำคัญก็คือในการออกแบบประกันสุขภาพในปัจจุบันนี้ ควรพิจารณาเรื่อง medical inflation สำหรับ predictive หรือทำนายค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลในอนาคตที่จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย เพราะถ้าตอนออกแบบประกันไม่ได้มี target loss ratio เอาไว้ ก็จะทำให้บริษัทประกันภัยต้องมีการปรับเปลี่ยนอัตราเบี้ยที่บ่อย เพราะไม่สามารถจะใช้อย่างยั่งยืนได้

"

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขอความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยหรือการพัฒนาปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพก็ตาม

ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะทุกฝ่ายตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า “ภาคธุรกิจควรอยู่ได้และสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคควรอยู่ครบ”

ซึ่งเป็นผลดีกับทุกฝ่ายครับ



นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
อาจารย์บรรยายด้านการคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย 
อาจารย์ที่ปรึกษาบทภาพยนตร์ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน
และผู้แต่งหนังสือ 
  •  The Top Job Secret ภาค 1 – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก
  •  The Top Job Secret ภาค 2 - ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน 
  • ให้เงินทำงาน ภาค 1 - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธี (Asset Liability Management)
  • ให้เงินทำงาน ภาค 2 - วิเคราะห์ภาษีกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ตัดสินใจวางแผนการออมเพื่อประโยชน์ทางภาษี)